ครม.คลอดกฎหมายลูก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปรับแบบ ระบบบำบัดน้ำเสีย

21 ธ.ค. 2566 | 15:32 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2566 | 15:38 น.

ครม.เห็นชอบกฎหมายลูก ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปรับปรุงแบบระบบบำบัดน้ำเสียใหม่ พร้อมปลดล็อกบางอาคารที่ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียรวมของหน่วยงานรัฐแล้ว ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2538) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ 

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับอาคารให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้การบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพในการควบคุมเกี่ยวกับการสาธารณสุขและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเป็นไปตามมาตรฐานสากล 

อีกทั้งมีความจำเป็นต้องเพิ่มเติมข้อกำหนดสำหรับอาคารประเภทและขนาดตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ที่ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียรวมของหน่วยงานของรัฐแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) เพื่อให้ไม่เป็นการบำบัดน้ำเสียซ้ำซ้อน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นให้แก่ประชาชน 

ทั้งนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์รายละเอียดของแบบระบบบำบัดน้ำเสีย เช่น รูปแบบและตำแหน่ง ลักษณะของโครงสร้าง จะกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารต่อไป ซึ่งในคราวประชุมคณะกรรมการควบคุมอาคาร ครั้งที่ 1515 - 28/2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว

 

ครม.คลอดกฎหมายลูก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปรับแบบ ระบบบำบัดน้ำเสีย

 

รายละเอียดของร่างกฎกระทรวง

1. แก้ไขปรับปรุงแบบระบบบำบัดน้ำเสีย โดยกำหนดให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยส่วนเกรอะ และส่วนบำบัด ซึ่งในส่วนของหลักเกณฑ์รายละเอียดของส่วนเกรอะและส่วนบำบัด เช่น รูปแบบและตำแหน่ง ลักษณะของโครงสร้าง เป็นต้น จะกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารต่อไป (เนื่องจากเดิมกำหนดเพียงให้ระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึม 

โดยต้องมีขนาดได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับการใช้ของผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารเท่านั้น ไม่ได้กำหนดรูปแบบหรือขนาดขั้นต่ำแต่อย่างใด) โดยมีการแก้ไขรายละเอียดในส่วนของถ้อยคำจากเดิม “บ่อ” เป็น “ส่วน” (เนื่องจากเดิมระบบบำบัดน้ำเสียต้องประกอบด้วยบ่อเกรอะและบ่อซึมแต่ในทางปฏิบัติจริงสามารถรวมบ่อเกรอะและบ่อซึมไว้ในบ่อเดียวกันได้ซึ่งประชาชนสามารถเลือกปฏิบัติได้โดยอาจแยกเป็น 2 บ่อหรือรวมไว้เป็นบ่อเดียวกันได้ 

จึงแก้ไขเป็นคำว่า “ส่วน” เพื่อความเหมาะสม) รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ จากเดิม “บ่อซึม” เป็น “ส่วนบำบัด” (เนื่องจากปัจจุบันบ่อซึมซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียรูปแบบหนึ่งนั้นไม่ใช่วิธีการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับประเทศไทยแล้ว) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

 

ครม.คลอดกฎหมายลูก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ปรับแบบ ระบบบำบัดน้ำเสีย

 

2. แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำจากเดิม “ใช้วิธีผ่านบ่อซึม” เป็น “ใช้วิธีการซึม” เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่ได้แก้ไขคำว่า “บ่อซึม” เป็น “ส่วนบำบัด”

3. เพิ่มเติมข้อกำหนด โดยกำหนดให้อาคารประเภทและขนาดตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ที่ขอรับบริการบำบัดน้ำเสียรวมของหน่วยงานของรัฐแล้วให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) เพื่อให้ไม่เป็นการบำบัดน้ำเสียซ้ำซ้อน และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นให้แก่ประชาชน

4. กำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้อาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลง หรือที่ได้ยื่นคำขออนุญาตหรือได้รับแจ้งการก่สร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ7 ได้รับยกเว้น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เนื่องจากทำให้เป็นภาระแก่ประชาชนมากขึ้น