“ภูมิธรรม” แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับกติกา "การค้าโลกใหม่"

20 ธ.ค. 2566 | 11:57 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2566 | 14:15 น.

รองนายกฯ และรมว. พาณิชย์ “ภูมิธรรม” แนะผู้ประกอบธุรกิจ ปรับตัวให้ทันกับกติกา “การค้าโลกใหม่” หลังหันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม มากขึ้น พร้อมต่อรองเจรจาการค้าให้ไทยได้ประโยชน์

วันนี้ (20 ธันวาคม 2566) ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Go Thailand : Green Economy - Landbridge โอกาสทอง หัวข้อ “Exploring the Dynamics : การค้าโลกใหม่” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า วันนี้โลกมีความท้าทายใหม่ จากสถานการณ์โลกและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันกับกระแสการค้าโลกใหม่

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านการเมือง ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะนำไปสู่กติกาการค้าโลกใหม่ หลายเรื่องถ้าทำธุรกิจเราจะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดผลกระทบ จึงต้องหาทางปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน” นายภูมิธรรม ระบุ

ทั้งนี้ยอมรับว่า ในปัจจุบันโลกมีความท้าทายใหม่จากสถานการณ์โลกและวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีความท้าทายใหม่ทั้งหมดนั้น ทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เนื่องจากมาตรการเหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไม่มากก็น้อย ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปได้ออก 3 มาตรการใหม่ คือ 

 

“ภูมิธรรม” แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับกติกา \"การค้าโลกใหม่\"

 

1.กฎระเบียบด้านการไม่ตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ครอบคลุมสินค้า 6 ชนิดที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ ได้แก่ การเลี้ยงปศุสัตว์ โกโก้ กาแฟ น้ำมันปาล์ม ยาง และ ถั่วเหลือง โดยต่อไปการนำสินค้าเหล่านี้เข้าสหภาพยุโรป บริษัทต่าง ๆ จะต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าสินค้าที่ตนเองนำเข้านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ภาคธุรกิจจึงต้องดูกฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้กระทบต่อสินค้าและการดำเนินธุรกิจ 

2.กฎระเบียบสอบทานธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม (EU Corporate Sustainability Due Diligence Directive: CSDDD) ที่ทางสหภาพยุโรปเพิ่งตกลงกันไปเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2567 โดยภายใต้ CSDDD นี้ ทั้งบริษัทในสหภาพยุโรปและที่ทำธุรกิจใน EU จะต้องพิสูจน์ทราบว่ากิจกรรมทางการค้าต่างๆ ของตนเองนั้น ไม่กระทบต่อทั้งด้านสิทธิมนุษยชน และ สิ่งแวดล้อม 

3.มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ ทั้ง นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า ต้องรายงานการปล่อย CO2 โดยเริ่มให้รายงานบางส่วนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ก่อนที่จะเริ่มใช้มาตรการ CBAM อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 1 ม.ค. 2569 

 

“ภูมิธรรม” แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับกติกา \"การค้าโลกใหม่\"

 

นายภูมิธรรม ระบุว่า ตัวอย่างของมาตรการทั้งหมดของสหภาพยุโรปแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการค้า การส่งออก หรือไปเปิดธุรกิจในสหภาพยุโรป ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับตัวของภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการเติบโตและอยู่รอดภายใต้ระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

"โลกการค้าใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เราต้องเข้าใจการเกลี่ยนเปลง รับมือ และต่อรอง อย่าจำยอมรับกติกาบางอย่างที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำการค้า โดยเฉพาะในช่วงต่อจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA หลายกรอบ เช่นเดียวกับการเจรจาการค้าใด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นก็ต้องต่อรองให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจด้วย"

ขณะเดียวกันการค้าโลกใหม่ ปัจจุบันกำลังเป็นดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบนโยบายให้กับทูตพาณิชย์ทั่วโลก พยายามเจาะช่องทางทางการค้าในตลาดใหม่ของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์แทนการใช้การเจรจาแบบเดิมที่เจอกันแบบตัวต่อตัว เพราะจะช่วยให้เกิดความสะดวก ลดต้นทุน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มโอกาสการค้าของไทยในอนาคตด้วย 

พร้อมกันนี้ยังต้องติดตามเทรนด์การค้าใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกติกาใหม่ของโลกให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นกติกาการค้าใหม่ ซึ่งถ้าภาคธุรกิจปรับตัวไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อไปอย่างแน่นอน

 

“ภูมิธรรม” แนะภาคธุรกิจปรับตัวรับกติกา \"การค้าโลกใหม่\"

 

รองนายกฯ ระบุว่า ในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยนั้น ที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับระเบียบการค้าโลกใหม่ๆ นี้ได้อย่างดี พิสูจน์ได้จากข้อมูลล่าสุดของการจัดอันดับใน DJSI (Dow Jones Sustainability Index) ที่มีบริษัทของไทยจำนวน 15 บริษัทที่ได้รับการประเมินให้อยู่ใน DJSI World ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 บริษัท โดยมีหลายบริษัทที่ได้รับการจัดให้เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมของตัวเองอีกด้วย

ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและย่อมของไทย และการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับต่อระเบียบการค้าโลกใหม่นี้ ยังไม่สามารถสู้ธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าไปช่วยส่งเสริมและขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมของไทย มีความตระหนักและพร้อมที่จะรองรับต่อระเบียบการค้าโลกใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มในเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) ต่อไป

“รัฐบาลขอประกาศ โดยให้เอกชนเป็นทัพหน้า และเปลี่ยนรัฐที่เป็นอุปสรรครัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน ขับเคลื่อนนโยบายการค้าของไทยทั้งแบบตั้งรับ ปรับตัว เชิงรุก โดยการเปลี่ยนรัฐที่เป็นอุปสรรคให้เป็นรัฐที่ส่งเสริมสนับสนุน เพื่อทำให้เป็นรัฐดิจิทัล เป็นการพาณิชย์ยุคใหม่ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย” รองนายกฯ กล่าวทิ้งท้าย