พาณิชย์ เตือนรับมือ ออสเตรเลียแย่งตลาดส่งออกมะม่วง

19 ธ.ค. 2566 | 17:16 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2566 | 17:22 น.

กระทรวงพาณิชย์ เตือนรับมือ กรณีออสเตรเลียเร่งส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่น ส่งผลกระทบเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย หลังออสเตรเลียเข้าสู่ฤดูกาลมะม่วง รวมถึง ญี่ปุ่นยกเลิกข้อจำกัดบางประการ ส่งผลกระทบกับไทยแน่นอน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามนโยบายด้านการค้าสินค้าเกษตรของต่างประเทศที่เกี่ยวกับผลไม้ โดยเฉพาะกลุ่มผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเตรียมความพร้อมรับมือหากส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย 

ทั้งนี้ พบว่าออสเตรเลียกำลังมีนโยบายเร่งขยายการส่งออกมะม่วงไปตลาดญี่ปุ่น โดยใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่แตกต่างจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ และพบว่า ออสเตรเลียต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศมีข้อจำกัดด้านจำนวนประชากรที่มีเพียง 25 ล้านคนเท่านั้น

กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ ออสเตรเลีย (Department of Agriculture, Fisheries and Forestry: DAFF) เปิดเผยว่า ออสเตรเลียจะส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นได้ยกเลิกข้อจำกัดด้านสายพันธุ์ในการส่งออกมะม่วงของออสเตรเลีย ส่งผลให้ชาวสวนและผู้ส่งออกมะม่วงออสเตรเลียได้รับประโยชน์จากการยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวทันที 

โดยปัจจุบันออสเตรเลียอยู่ในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูกาลมะม่วง (เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์) ซึ่งแตกต่างจากประเทศผู้ผลิตในแถบซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเม็กซิโก

ปัจจุบันออสเตรเลียผลิตมะม่วงได้ปีละประมาณ 70,000 ตัน มีจุดเด่นด้านความฉ่ำ (Juicy) และรสชาติอร่อย ขณะที่การส่งออกมะม่วงของออสเตรเลีย คิดเป็น 10% ของผลผลิตทั้งหมด มีตลาดส่งออกหลัก คือ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจีน 

ส่วนตลาดญี่ปุ่น เดิมอนุญาตให้ออสเตรเลียส่งออกมะม่วงได้เพียง 5 สายพันธุ์ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช ได้แก่

  • พันธุ์เคนซิงตัน (Kensington)
  • อาร์ทูอีทู (R2E2)
  • พันธุ์เคนต์ (Kent)
  • พันธุ์คีตต์ (Keitt)
  • พันธุ์ปาล์มเมอร์ (Palmer) 

ปัจจุบันญี่ปุ่นยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว เพราะมะม่วงในออสเตรเลียได้ผ่านการอบไอน้ำ (Vapor Heat Treatment: VHT) ตามมาตรฐานสากล เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการปนเปื้อนแมลงศัตรูพืชได้ ทำให้มะม่วงทุกสายพันธุ์ที่ปลูกในออสเตรเลียสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ สายพันธุ์มะม่วงออสเตรเลียที่น่าจะมีโอกาสเติบโตสูงในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ พันธุ์คาลิปโซผิวสีแดง (Red-skinned Calypso) และพันธุ์ฮันนี่โกลด์สีทอง (Golden Honey Gold) โดยญี่ปุ่นถือเป็นตลาดส่งออกมะม่วงที่มีศักยภาพระยะยาวสำหรับออสเตรเลีย

รัฐบาลออสเตรเลียเน้นว่า การยกเลิกข้อจำกัดด้านพันธุ์พืชในการส่งออกมะม่วงไปญี่ปุ่น และการแสวงหาโอกาสทางการค้าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าสด (Fresh Product) จะเป็นแนวทางในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เพิ่มเติมให้ออสเตรเลีย และจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรของออสเตรเลีย ซึ่งนอกจากจะแก้ไขข้อจำกัดด้านตลาดในประเทศที่มีขนาดเล็กแล้ว ยังทำให้ออสเตรเลียสามารถกำหนดเป้าหมายตลาดส่งออกได้หลากหลายขึ้น โดยญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากยังมีการนำเข้าผลไม้จากออสเตรเลียในสัดส่วนค่อนข้างน้อย จึงยังคงมีพื้นที่สำหรับการเติบโตได้อีกมาก

นโยบายดังกล่าวของออสเตรเลีย อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกมะม่วงของไทยไปยังญี่ปุ่น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม – ตุลาคม) ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกมะม่วงสดอันดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าส่งออก 3.4% ของมูลค่าส่งออกมะม่วงสดทั้งหมด รองจากมาเลเซีย (สัดส่วน 42.6%) เกาหลีใต้ (สัดส่วน 38.1%) และเวียดนาม (สัดส่วน 5.3%) ตามลำดับ

โดยไทยส่งออกมะม่วงสดไปญี่ปุ่น มีปริมาณรวม 946 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.92 ล้านเหรียญสหรัฐ (99.3 ล้านบาท) หดตัว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าแม้ฤดูกาลมะม่วงออสเตรเลียจะต่างจากไทย แต่ไทยมีการส่งออกมะม่วงไปตลาดญี่ปุ่นตลอดทั้งปี

"โดยส่งออกมากในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม และมีปริมาณส่งออกสูงที่สุดในเดือนเมษายน มะม่วงนำเข้าจากออสเตรเลียจึงอาจไปทดแทนมะม่วงนำเข้าจากไทย เนื่องจากเน้นเจาะตลาดกลุ่มพรีเมียมเหมือนกัน"

นายพูนพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เกษตรกรและผู้ส่งออกมะม่วงไทยที่ส่งออกไปญี่ปุ่น ต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบดังกล่าว เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของไทยในญี่ปุ่น โดยการรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรถือเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมออยู่แล้ว 

แต่สำหรับในระยะสั้น ต้องเร่งสร้างการรับรู้และให้ข้อมูลจุดเด่นด้านรสชาติ เอกลักษณ์ของมะม่วงไทย และประชาสัมพันธ์วิธีการรับประทานมะม่วงไทยในหลายๆ รูปแบบ ทั้งอาหารคาวและอาหารหวานผ่านอินฟลูเอนเซอร์หรือช่องทางที่ได้รับความนิยมในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นเรื่องราว (Stories) ที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ การให้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับมะม่วงแต่ละสายพันธุ์ของไทย เช่น สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าอินทรีย์ หรือสินค้าที่มีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็อาจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับมะม่วงของไทยได้มากขึ้นเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุดปี 2565 ญี่ปุ่นมีการนำเข้ามะม่วงสด มูลค่ารวม 32.64 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. เม็กซิโก มูลค่านำเข้า 13.01 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วน 39.9% ของมูลค่าการนำเข้ามะม่วงสดทั้งหมดของญี่ปุ่น)
  2. ไทย 5.56 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 17%)
  3. เปรู 5.25 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 16.1%)
  4. ไต้หวัน 4.87 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 14.9%)
  5. เวียดนาม 2.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (สัดส่วน 7.2%) 

ขณะที่ ปัจจุบันญี่ปุ่นยังมีการนำเข้ามะม่วงสดจากออสเตรเลียเป็นมูลค่าน้อย โดยในปี 2565 มีมูลค่านำเข้ารวมเพียง 0.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการนำเข้ามะม่วงสดทั้งหมดของญี่ปุ่น) หดตัวร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (ที่มา: trademap.org)