เข้าใจห่วงโซ่การผลิต “หมูไทย” กับทางแก้ไขเมื่อภัย “หมูเถื่อน” รุกราน

14 ธ.ค. 2566 | 16:48 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 17:02 น.
570

เนื้อหมู เป็นโปรตีนยอดนิยมประเภทหนึ่งของคนไทย มีอัตราการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 21 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ประเทศไทยต้องผลิตหมูให้เพียงพอต่อการบริโภคที่ประมาณ 19-20 ล้านตัวต่อปี โดยมีห่วงโซ่การผลิตหมูพอสังเขป ดังนี้

กลุ่มแรก : ประกอบด้วย เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ >> พ่อค้าพืชไร่ >> โรงงานอาหารสัตว์ >> เอเย่นต์อาหารสัตว์ >>

กลุ่มนี้ถือเป็นต้นน้ำของการเลี้ยงหมู โดยเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  รำข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ล้วนอยู่ในกลุ่มนี้หมด เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผู้ปลูกข้าวโพดจะขายข้าวโพดให้แก่พ่อค้าพืชไร่นำไปกำจัดความชื้น แล้วรวบรวมขายให้กับโรงงานอาหารสัตว์ จากนั้นโรงงานอาหารสัตว์จะกระจายสินค้าผ่านเอเย่นต์ เพื่อส่งต่ออาหารสัตว์ไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในขั้นตอนวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ ถือเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงหมู คิดเป็นสัดส่วนถึง 65% 

กลุ่มถัดมา :  เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู >> โบรกเกอร์ / ผู้ซื้อหมูเป็น >> โรงเชือด >>

จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยในช่วงเวลาปกติ คาดการณ์กันว่ามีอยู่ราว ๆ  2 แสนราย ในขั้นตอนของการเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู ต้องมีลูกหมูสายพันธุ์ดี แข็งแรง เป็นผลผลิตตั้งต้นให้เกษตรกร จากนั้นยังต้องมีโรงเรือนที่ดี มีระบบป้องกันโรคที่เข้มงวด ที่สำคัญต้องเข้าสู่ ฟาร์มมาตรฐานกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ทุกปัจจัยส่งเสริมผลการเลี้ยงที่ดี ได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยตามข้อกำหนดของรัฐ เมื่อได้หมูขุนตามขนาดที่ตลาดต้องการแล้ว จะมีโบรกเกอร์เข้ามาซื้อหมูเป็น หรือหมูมีชีวิต ในราคาหน้าฟาร์ม เพื่อนำไปเข้าโรงชำแหละ จากนั้นก็นำชิ้นส่วนเนื้อหมูเข้าสู่กระบวนการขาย

เข้าใจห่วงโซ่การผลิต “หมูไทย” กับทางแก้ไขเมื่อภัย “หมูเถื่อน” รุกราน

กลุ่มสุดท้าย :  จุดจำหน่ายร้านค้าส่ง >> จุดจำหน่ายร้านค้าปลีก/ตลาดสด/เขียง >> ร้านอาหาร >> ผู้บริโภค

ในขั้นตอนของการขาย ก็จะเหมือนสินค้าทั่วไป เมื่อหมูถูกชำแหละเป็นชิ้นส่วนแล้ว จะมีการขนส่งเข้าสู่ศูนย์ค้าส่งขนาดใหญ่ / ตลาดค้าส่ง แล้วกระจายสู่ร้านค้าปลีก / เขียง / ร้านอาหาร และถึงมือผู้บริโภคในที่สุด  

“หมูไทย”  น่าจะเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี หากไม่เกิดสถานการณ์อันตรายที่ทำลายวิถีชีวิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและทำให้ห่วงโซ่การผลิตนี้สั่นคลอน

  • เหตุปัจจัย “หมูเถื่อน” ทะลักไทย

ปี 2564-2565 ประเทศไทยประสบปัญหาโรคระบาด ASF ดังเช่นอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ที่ส่งผลให้ทั้งแม่พันธุ์หมูและหมูขุนทั่วประเทศได้รับความเสียหายไปกว่าครึ่ง แม่พันธุ์หมูราว 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6 แสนตัว หมูขุนจาก 21 ล้านตัว เหลือเพียง 14 ล้านตัว ส่วนต่างหมูขุนที่หายไปหลายล้านตัวส่งผลให้ราคาหมูสูงขึ้นอย่างมาก แต่ราคาหมูขยับสูงขึ้นตามกลไกตลาดได้ไม่นาน ก็กลับลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่รอบการเลี้ยงหมูยังไม่ใช่เวลาที่หมูจะโตทันความต้องการของตลาด นั่นเป็นเพราะมี “ขบวนการหมูเถื่อน” เกิดขึ้น จากฝีมือนายทุน ชิปปิ้ง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนนักการเมืองและผู้มีอิทธิพล ร่วมกันกระทำการผิดกฎหมาย ลักลอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศเป็นจำนวนมหาศาล หลายพันตู้คอนเทนเนอร์ หรือหลายล้านกิโลกรัม รวมถึงการนำเข้าด้วยกองทัพมดตามตะเข็บชายแดน กระจายสู่ทุกภูมิภาคทั่วไทยอย่างรวดเร็ว จำหน่ายในราคาต่ำกว่าหมูไทยเกือบครึ่ง เป็นเหตุให้หมูไทยถูกกดดันราคาอย่างหนักและเข้าสู่ภาวะขาดทุนทันที

"หมูเถื่อน" ส่วนใหญ่มีต้นทางอยู่ในประเทศแถบอเมริกาใต้และยุโรป ซึ่งล้วนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าหมูไทย เนื่องจากประเทศเหล่านั้นเป็นแหล่งเพาะปลูกธัญพืชอันดับต้นๆของโลก มีการปลูกพืชในลักษณะเกษตรแปลงใหญ่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย ขณะที่ไทยใช้พืชไร่ภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าแปลงใหญ่ในแถบตะวันตก

เมื่อผนวกกับมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลไทยพยายามอุ้มชูเกษตรพืชไร่ในประเทศ จึงทำให้ราคาวัตถุดิบเหล่านี้สูงกว่าในตลาดโลก เป็นภาระให้คนเลี้ยงหมูต้องแบก และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูไทยสูงกว่าหมูเถื่อนอย่างชัดเจน  ขณะที่บางชิ้นส่วนประเทศตะวันตกไม่รับประทาน เช่น เครื่องใน - หนัง – หัว ราคาก็ยิ่งต่ำลงอีก อีกทั้งหมูเถื่อนยังหลบเลี่ยงภาษีศุลกากร โดยการสำแดงเท็จ เมื่อบวกลบคูณหาร กับการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ขบวนการดังกล่าวก็ยังเห็นกำไรอีกมหาศาล  “หมูเถื่อน” จึงเกลื่อนเมืองมาตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา

ล่าสุด จากการสอบสวนขยายผลการจับกุมหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่แหลมฉบัง พบหลักฐานว่าขบวนการนี้ขนหมูเถื่อนเข้าไทยตั้งแต่ปี 2564-2566 รวมแล้วถึง 2,385 ใบขน จนป่านนี้ยังไม่มีใครทำการสอบสวนว่าใบขนทั้งหมดนี้เป็นของบริษัทใด มีเส้นทางการเงินอย่างไร จนอดกังวลไม่ได้ว่า จะกลายเป็นหลักฐานที่สูญเปล่า เพราะความล่าช้าของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้ง ๆ ที่หมูเถื่อนกำลังอยู่ในความสนใจของสังคม

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

  • กระทบต่อเกษตรกรไทย  : การที่หมูเถื่อนเข้ามาเป็นจำนวนมากจนสามารถกดดันราคาหมูไทยให้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรไทยแบกรับภาระขาดทุนต่อเนื่อง หลายรายตัดสินใจเลิกอาชีพเลี้ยงหมู  และหากเกษตรกรปศุสัตว์ล่มสลาย เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่อีกนับล้านครัวเรือนก็อยู่ไม่ได้ รวมถึงทุกคนในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดก็จะหายไปจากระบบด้วยเช่นกัน
  • กระทบต่อผู้บริโภค : หมูเถื่อนทั้งหมด เป็นหมูที่ไม่ผ่านการตรวจสอบสารปนเปื้อน มีหลายครั้งที่ตรวจพบ “สารเร่งเนื้อแดง” ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เพราะหมูส่วนใหญ่มาจากประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงได้ นอกจากนี้หมูทั้งหมดยังถูกชำแหละมานานกว่า 1-2 ปี เสี่ยงต่อการหมดอายุและขึ้นรา ไม่สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย และอาจกระทบสุขภาพของประชาชนชาวไทยในระยะยาว เกิดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขให้ต้องแก้กันอีกนาน
  • กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ :  ทุกประเทศล้วนจัดให้หมูเป็นสินค้าควบคุม มีกฎหมายคุ้มครองปกป้องการประกอบอาชีพเกษตรกรของเขา เป็นความมั่นคงทางอาหารที่ทุกประเทศพึงมี ประเทศไทยก็เช่นกัน จึงห้ามนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากต่างประเทศ ขณะที่ไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลก มีมาตรการด้าน Food Safety มากมาย ทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จนกล่าวได้ว่า กระบวนการผลิตหมูของไทยดีที่สุดในภูมิภาคและดีที่สุดในโลกด้วยซ้ำ
  • กระทบต่อความมั่นคงของชาติ : การปล่อยให้ขบวนการหมูเถื่อนกัดกินผลประโยชน์ชาติมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ตอกย้ำว่าประเทศนี้ยังเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งในวงราชการ วงการการเมือง  วงการธุรกิจ จนกฎหมายเอื้อมไม่ถึง เสถียรภาพด้านธรรมาภิบาลตลอดจนภาพลักษณ์เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อความมั่นคงของประเทศเลย

เข้าใจห่วงโซ่การผลิต “หมูไทย” กับทางแก้ไขเมื่อภัย “หมูเถื่อน” รุกราน

แนวทางแก้ไขที่สำคัญที่สุดคือ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันในขบวนการหมูเถื่อนให้สิ้นซาก อย่าให้เหลือเชื้อไฟที่จะก่อติดขึ้นมาทำลายประเทศได้อีก รัฐต้องกวาดล้างหมูผิดสุขลักษณะและอันตรายเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศ นอกจากนี้ ยังต้องเร่งจัดวางระบบในทุกๆ ขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิต อาทิ การปรับโครงสร้างราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ การยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและตรวจสอบย้อนกลับ การยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และต้องมองไกลไปในเวทีโลกด้วยการสนับสนุนการปลูกพืชอาหารสัตว์ตามมาตรฐาน GAP โดยไทยต้องร่วมลดการก่อให้เกิดคาร์บอนในทุกๆห่วงโซ่การผลิตอาหาร และเดินหน้าสู่ความยั่งยืนของทุกภาคส่วนให้ได้  

“หมูเถื่อน” เป็นปรากฎการณ์สำคัญ ที่บอกว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ต้องให้ความสำคัญกับคนในชาติ ไม่ทำร้ายเกษตรกรผู้ผลิตอาหาร ไม่บั่นทอนผู้ประกอบการภายในประเทศให้ต้องลดระดับการวิจัยพัฒนา ไม่ทำลายความมั่นคงของประเทศ ด้วยการจ้องแต่จะนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนมาเบียดเบียนตลาดภายใน และ ไม่ทำร้ายประชาชนด้วยการยัดเยียดสารพิษตกค้างในหมูเถื่อนมาให้รับประทาน  แต่ควรหันมาใส่ใจว่า หมูคุณภาพดี สะอาด ถูกสุขอนามัยและปลอดภัยนั้นเป็นอย่างไร  การไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้นสำคัญแค่ไหน และนี่คือสิ่งที่ทำให้ “หมูไทย” ที่เลี้ยงโดยเกษตรกรไทยนั้นดีที่สุดสำหรับเราทุกคน

บทความโดย : สมคิด เรืองณรงค์ นักวิชาการอิสระ