ปลัดพาณิชย์ติวเข้มส่งออก ฝ่าด่านคู่ค้า หลัง 20 ปีคลอดมาตรการกีดกันพุ่ง 400%

13 ธ.ค. 2566 | 16:39 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2566 | 12:05 น.

ปลัดพาณิชย์ฉายภาพกติกาค้าโลกยุคใหม่เพิ่มทวีคูณ คู่ค้าหลักทั้งสหรัฐ อียู จีน ออสเตรเลีย แห่นำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้ เผยรอบ 20 ปี ออกมาตรการเพิ่ม 400% แนะฉวยวิกฤตเป็นโอกาส เร่งปรับตัวสร้างจุดขายใหม่ ชิงได้เปรียบสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า

ในงานสัมมนา Sustainability Forum จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ณ ไบเทค บางนา

นายกีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง The New Legal Framewoyk for Sustainable International Trade ใจความสำคัญระบุว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศไม่สามารถออกมาตรการใด ๆ ได้ตามอำเภอใจ เนื่องจากมี “กฎกติการะหว่างประเทศ” กำกับอยู่ และรัฐบาลของแต่ละประเทศต้องปฏิบัติตามกฎกติกา ทั้งนี้หากไม่ทำตามอาจถูกรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ ร้องเรียน และอาจถูกฟ้องร้องเป็นคดีพิพาทระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ดี กฎกติกาพื้นฐานที่ทุกประเทศต้องทำตามคือกฎกติกาขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่สมาชิกทุกประเทศต้องทำตามโดยห้ามเลือกปฏิบัติและห้ามจำกัดการนำเข้าและส่งออก แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่สามารถนำมาใช้ได้ แม้จะการเลือกปฏิบัติหรือจำกัดการนำเข้า/ส่งออกก็ตาม โดยมีเงื่อนไขว่ามาตรการดังกล่าวจะต้องมีความสมเหตุสมผลและไม่แอบแฝงการกีดกันทางการค้า

กีรติ  รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ยกตัวอย่างเช่นคดี  “กุ้ง-เต่า” ในปี 2539 ที่ประเทศอินเดีย มาเลเซีย ปากีสถาน และไทย ได้ยื่นฟ้องสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับมาตรการห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศที่ไม่มีมาตรการบังคับให้เรือประมงกุ้งทุกลำต้องติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเล ซึ่ง WTO ได้ตัดสินว่าการที่สหรัฐกำหนดให้ประเทศอื่น ๆ ต้องใช้มาตรการอนุรักษ์ฯ เหมือนกับมาตรการของตนเองถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะประเทศอื่น ๆ อาจจะมีมาตรการที่เหมาะสมกว่าของสหรัฐก็ได้

ภายหลังสหรัฐได้ปรับแก้มาตรการ โดยกำหนดว่าประเทศอื่น ๆ ไม่ต้องใช้มาตรการเหมือนกับของสหรัฐแต่เพียงขอให้มาตรการที่ประเทศอื่นใช้ขอให้มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับมาตรการของสหรัฐก็เพียงพอแล้ว ซึ่งท้ายที่สุด WTO ได้ตัดสินว่ามาตรการของสหรัฐที่ปรับแก้แล้วนั้นสามารถทำได้

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบันประเทศผู้ค้าได้นำมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) มาใช้ทางการค้าเพื่อจำกัดหรือส่งผลให้เกิดการเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกึ่ง ๆ เป็นการกีดกันการค้า โดยอ้างเหตุผลและวัตถุประสงค์ในด้านความมั่นคง ความปลอดภัยของชีวิต สุขภาพ ศีลธรรมอันดี รวมถึงการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีสามารถทำได้แต่จะต้องใช้มาตรการบนพื้นฐานของหลักการสำคัญว่า จะไม่ใช้ตามอำเภอใจโดยไม่สมเหตุสมผล และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคหรือเลือกปฏิบัติต่อการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี(NTBs) ซึ่งเป็นมาตรการอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากภาษีซึ่งใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่อาจขัด หรือไม่สอดคล้องกับกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ

โดยมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่สำคัญได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) โดยการตรวจสอบความปลอดภัย / คุณภาพของสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อคุ้มครองคุ้มครองสุขภาพคน สัตว์ และพืช เป็นอุปสรรคต่อการหาเงินเข้าประเทศ, มาตรการอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) เป็นข้อกำหนด/กฎระเบียบทางเทคนิค และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เช่น การประเมินตรวจสอบมาตรฐาน และกระบวนการผลิตสินค้า การทดสอบรับรองเพื่อยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ที่นำมาใช้กับกรณีที่ราคาสินค้านำเข้ามีราคาต่ำกว่าราคาปกติ(normal value) ที่ผู้ส่งออกขายสินค้าดังกล่าวในตลาดประเทศต้นทาง

มาตรการการตอบโต้การอุดหนุน(CVD) ใช้กับกรณีที่ประเทศสมาชิก WTO ให้การอุดหนุนทางการเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ภาคเอกชนภายในประเทศเพื่อให้เกิดความได้เปรียบสินค้าจากต่างประเทศ และมาตรการปกป้อง (Safeguards Measures) ที่ใช้กับกรณีที่มีการทะลักเข้ามาของสินค้าในปริมาณมากจนก่อให้เกิดหรือจะเสี่ยงให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ

“ยังมีกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่ได้มีข้อตกลงที่ก่อให้เกิดข้อผูกพันหรือพันธกรณีระหว่างประเทศและอาจนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีพิพาทหากไม่ทำตามเช่น ความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ยุคใหม่ที่มักมีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่น CPTPP และ FTA ของสหภาพยุโรป(EU) ที่ทำกับประเทศต่าง ๆ รวมถึง FTA ไทย-สหภาพยุโรปที่อยู่ระหว่างการเจรจาที่ต้องเจรจาทำความเข้าใจกัน โดยทั้งสองฝ่ายต้องเป็นผู้ให้และผู้รับ”

ปลัดพาณิชย์ติวเข้มส่งออก ฝ่าด่านคู่ค้า หลัง 20 ปีคลอดมาตรการกีดกันพุ่ง 400%

นายกีรติ กล่าวอีกว่า ที่น่าจับตามองคือมาตรการสิ่งแวดล้อมล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยตัวอย่างมาตรการของสหภาพยุโรปหรืออียู คือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่มได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า,อลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย,ไฟฟ้า,และไฮโดรเจน จะต้องเริ่มแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่นำเข้าในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2566-31 ธ.ค. 2568) และจะต้องถูกบังคับให้ซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ของสินค้านั้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังมีระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการทำลายพื้นที่ป่าของโลก โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการใน 7 กลุ่มสินค้าได้แก่ โค,โกโก้,กาแฟ, น้ำมันน้ำมันปาล์ม, ยางพารา, ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิตสินค้าว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม

ทั้งนี้ในมาตรการ CBAM   มีสินค้าไทยที่ส่งออกตามรายการ CBAM ไปยังสหภาพยุโรปในปี 2565 ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อลูมิเนียม ปุ๋ย ซีเมนต์ ไฟฟ้า และไฮโดรเจน มูลค่ารวม 425.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(14,712.33 ล้านบาท) คิดเป็น  1.49% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสภาพยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว

ปลัดพาณิชย์ติวเข้มส่งออก ฝ่าด่านคู่ค้า หลัง 20 ปีคลอดมาตรการกีดกันพุ่ง 400%

ส่วนสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) อยู่ในกลุ่มสินค้าตามรายการที่ครอบคลุมในกฎหมาย Deforestation ไปอียู โดยในปี 2565 ไทยมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ไปอียูคิดเป็นมูลค่า 1,850.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยต้องปรับตัวตามความต้องของลูกค้า แต่มาตรการที่ออกมาต้องโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ

ขณะเดียวกันยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของประเทศต่าง ๆ ที่ถูกนำมาบังคับใช้ทั่วโลกช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 400%  เช่น สหรัฐ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับฉลากของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (ก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่ง)

จีน ให้เงินสนับสนุนวิสาหกิจที่ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติหรือจากถ่านหินเป็นไฟฟ้า,สหราชอาณาจักร ออกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับเชื้อเพลิงไบโอดีเซล  และออสเตรเลียกำหนดให้ต้องมีการขอใบอนุญาตสำหรับการนำเข้าสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนบางชนิด

ส่วนมาตรการของภาคธุรกิจเอกชนก็มีมากมาย ตัวอย่างเช่น  บริษัทไมโครซอฟท์ เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนภายในองค์กร(internal carbon fee) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 กำหนดให้หน่วยธุรกิจของตนเองในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน (carbon fee) ตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยโดยหน่วยธุรกิจนั้น โดยบริษัทจะนำค่าธรรมเนียมที่เก็บได้ไปลงทุนในโครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-waste) เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อดูแลเรื่องความยั่งยืน

เนสท์เล่ กำหนดนโยบายว่า วัตถุดิบที่ตนจัดซื้อเช่น น้ำมันปาล์ม เยื่อและกระดาษ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำตาล กาแฟและโกโก้ จะต้องไม่มาจากพื้นที่ที่ถูกแปรสภาพจากป่าที่มีการกักเก็บคาร์บอนสูงหรือระบบนิเวศธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายในการทำให้บริษัทมีห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี ค.ศ. 2025 ซึ่งจากมาตรการทางการค้าที่ประเทศคู่ค้าได้นำมาใช้หรือจะนำมาใช้ที่กล่าวมาทั้งหมดจะส่งผลผลกระทบต่อผู้ประกอบการของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ให้คำแนะนำแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยที่สำคัญคือ ให้มองวิกฤตเป็นโอกาส ใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและปรับปรุงองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นจุดขายที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการไทย

 นอกจากนี้ให้ติดตามและศึกษาพัฒนาการของแนวโน้มของนโยบายและมาตรการด้านการค้าใหม่ ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรองรับ รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม /ปล่อยคาร์บอนต่ำ และธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเช่น สินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม และพลังงานพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐต้องมีการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต้องมีการสื่อสารสองทางในการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน โดยกระทรวงพาณิชย์จะเฝ้าระวังติดตามมาตรการ ไม่ให้ประเทศคู่ค้าใช้มาตรการหลุดจากกรอบที่ควรจะเป็น หรือในลักษณะกลั่นแกล้ง เอาเปรียบ สร้างภาระให้ซัพพลายเออร์ หรือผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม และพร้อมโต้แย้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการของไทย

นายกีรติ กล่าวด้วยว่า อยากให้มองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะมีออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนที่จะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการทางการค้า และอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จะมี issue ใหม่ ๆ ออกมาอีก ซึ่งผู้ส่งออกต้องติดตาม ปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทของโลก ซึ่งเชื่อว่าคนไทยทำได้ เพราะเราหนีไปไหนไม่ได้ เราต้องสู้ ที่สำคัญต้องมองมุมบวก แสวงหาข้อมูล องค์ความรู้ใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุน และสอดคล้องกับบริบทต่าง ๆ ของการค้าโลก

"ถ้าทำได้เราจะมี Value มากกว่าคนอื่น และสามารถสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในการปรับตัวย่อมมีความหนื่อย และความยากลำบากในการที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต และมีกระบวนการที่ยุ่งยากมากขึ้น แต่เราก็ต้องสู้กับมัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมให้การสนับสนุน และพร้อมเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทุกราย" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย