EEC Visa เครื่องมือใหม่ดูดนักลงทุนทั่วโลก พ่วงสิทธิประโยชน์สารพัด

07 ธ.ค. 2566 | 15:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ธ.ค. 2566 | 17:03 น.

รัฐบาลผลักดันการลงทุนจากต่างชาติรูปแบบใหม่ ผ่าน “EEC Visa” หวังเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักธุรกิจจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี พร้อมจัดเต็มสิทธิประโยชน์สารพัด เช็ครายละเอียดได้ที่นี่

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ไม่นานมานี้ มีเรื่องน่าฮือฮาภายหลังจากสำนักงาน อีอีซี เสนอรายละเอียดแนวทางการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการจัดทำ “EEC Visa” หรือการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้กฎหมายของสำนักงาน EEC เป็นครั้งแรก โดยมอบ VISA ให้สูงสุดถึง 10 ปี พร้อมจัดสิทธิประโยชน์อื่น ๆ พ่วงเข้ามาอีกหลายเรื่อง

ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลข้อเสนอการจัดทำ “EEC Visa” เข้ามาในครั้งนี้ พบข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะความพิเศษของมาตรการ ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายเอาไว้อย่างชัดเจนว่า หากผลักดันเรื่องนี้ได้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญภายใต้แผนการลงทุนระยะ 5 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดเงินลงทุนจริงจากเอกชนอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท

การจัดทำ “EEC Visa” อยู่บนหลักการ คือ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าวที่มีศักยภาพและเป็นกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการในด้านที่ประเทศไทยขาดแคลน ทั้งด้านจำนวนและด้านคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสตร์หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างเร่งด่วน

 

EEC Visa เครื่องมือใหม่ดูดนักลงทุนทั่วโลก พ่วงสิทธิประโยชน์สารพัด

 

การแบ่งประเภท EEC Visa

ประเภทของ EEC Visa แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

1. ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa ประเภท Specialist : EEC Visa “S”

2. ผู้บริหาร ให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa ประเภท Executive : EEC Visa “E”

3. ผู้ชำนาญการ ให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa ประเภท Professional : EEC Visa “P”

4. คู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ให้ได้รับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ EEC Visa ประเภท Other : EEC Visa “O”

 

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับ EEC Visa

การกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิที่จะได้รับ EEC Visa จะแบ่งไปตามประเภทของวีซ่าที่จะได้รับ โดยในส่วนแรก นั่นคือ ผู้ที่จะขอรับ EEC Visa ประเภท “S”, “E”, และ “P” ต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสัญญาจ้างกับผู้ประกอบกิจการหรือมีสัญญากับบุคคลอื่นที่กำหนดให้ต้องปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และ ต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติจากผู้ประกอบกิจการ

พร้อมกันนี้ยังกำหนดมีลักษณะเพิ่มเติม สำหรับ EEC Visa ประเภท “S”, “E”, และ “P” ดังนี้

1. กรณีเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ต้องเป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถในด้านที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือกิจการที่เกี่ยวเนื่อง หรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน เป็นต้น

2. กรณีเป็นผู้บริหาร ต้องเป็นบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงาน มีอำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการ โดยต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้บริหาร ที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ โครงสร้างองค์กร รายละเอียดหน้าที่ความรับผิดชอบ เอกสารรับรองการทำงาน วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน เป็นต้น

3. กรณีเป็นผู้ชำนาญการ ต้องเป็นบุคคลผู้มีประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษหรือกิจการที่เกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ โดยต้องแสดงหลักฐานการเป็นผู้ชำนาญการ ผลงาน หนังสือรับรองการปฏิบัติงาน เป็นต้น

ส่วนที่สอง คือ ผู้ที่่จะขอรับ EEC Visa ประเภท “O” ต้องมีคุณสมบัติ โดยเป็นคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือ ผู้ชำนาญการ และบุคคลดังกล่าวต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

 

EEC Visa เครื่องมือใหม่ดูดนักลงทุนทั่วโลก พ่วงสิทธิประโยชน์สารพัด

 

สิทธิประโยชน์ของ EEC Visa

เมื่อนักลงทุนต่างชาติรายใดมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับ EEC Visa ให้ได้รับสิทธิประโยชน์

กลุ่มแรก ซึ่งได้รับ EEC Visa ประเภท “S”, “E”, และ “P” จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1. สิทธิในการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ โดยมีอายุการตรวจลงตราตามที่เลขาธิการอนุญาต สูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้าง สำหรับใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยประทับตราขาเข้าและอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรในครั้งแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี

2. สิทธิในการรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด หรือรายงานตัวผ่านระบบออนไลน์

3. สิทธิในการตรวจลงตรา/เปลี่ยนประเภท/ต่ออายุ Visa ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

4. สิทธิในการนำคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยแสดงหลักฐานถึงความสัมพันธ์ตามที่กำหนด

5. มีสิทธิทำงานโดยได้รับ EEC Work permit และไม่ต้องขอรับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

6. สิทธิในการได้รับการลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดาในอัตราคงที่ 17%

7. สิทธิในการได้รับการอำนวยความสะดวกในการใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ณ สนามบินนานาชาติ

กลุ่มที่สอง คือ ผู้ที่ได้รับ EEC Visa ประเภท “O” จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1. สิทธิในการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรตามจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการ โดยมีอายุการตรวจลงตราตามที่เลขาธิการอนุญาตสูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่ไม่เกินระยะเวลาที่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการได้รับอนุญาต สำหรับใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยประทับตราขาเข้าและอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรในครั้งแรกเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี

2. สิทธิในการรายงานตัวแจ้งที่พักอาศัยทุก 1 ปี

3. สิทธิในการได้รับการอ านวยความสะดวกในการใช้ช่องทางพิเศษ (Fast track) ณ สนามบินนานาชาติ

 

EEC Visa เครื่องมือใหม่ดูดนักลงทุนทั่วโลก พ่วงสิทธิประโยชน์สารพัด

 

เงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์

สำหรับเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ EEC Visa ทุกประเภทมีด้วยกัน 3 เงื่อนไข นั่นคือ

1. ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพแก่ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมทั้งคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ซึ่งคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบุคคลดังกล่าวแต่ละรายตลอดระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักร

2. ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมทั้งคู่สมรส และบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนด

3. หากตรวจพบในภายหลังว่าผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมทั้งคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะ ไม่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ให้เลขาธิการมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตให้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งการอนุญาตการทำงานต่อไป

สำหรับการดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงานอีอีซี ร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศหรือคำสั่งหรือกฎระเบียบตามหลักการดังกล่าว โดยให้มีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป