"อุตสาหกรรมเหล็ก"วิกฤติหนัก หลังจีนทุ่มตลาดกดราคาขาย

05 ธ.ค. 2566 | 08:29 น.
741

"อุตสาหกรรมเหล็ก"วิกฤติหนัก หลังจีนทุ่มตลาดกดราคาขาย มิลล์คอนวอนภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือโดยด่วน แนะบูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ เข้าขั้นวิกฤตและกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากหลายปัจจัยโดยเฉพาะการถูกดั้มราคา หรือการถูกทุ่มตลาดจากสินค้าจีนที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ พบว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป 9 เดือนสะสมจากจีน ในปี 2565 มีจำนวน 2,847,869 ตัน และปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,490,987 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 22.6% (ข้อมูลจาก สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย) บวกกับต้นทุนการผลิตจากการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้

สำหรับกลุ่มมิลล์คอนฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ในประเทศ หนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวไปด้วย ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้ามาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กโดยด่วน 

โดยส่วนตัวมองว่าภาครัฐจะต้องเข้ามาบูรณาการทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง  เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถแข่งขันได้  ซึ่งในเบื้องต้นมีข้อเสนอ 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย

  • ปัญหาของเศษเหล็ก ที่ปัจจุบันโรงหลอมทั้งหมดในประเทศมีปัญหาเรื่องของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยผู้ผลิตเหล็กในฐานะผู้ซื้อผู้บริการ ที่อยู่ในระบบภาษีถูกต้อง สามารถเป็นผู้นำส่งภาษีให้กับทางกรมสรรพากรแทนผู้ขายได้ หรืออาจใช้ในรูปแบบ No VAT เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเช่นกัน
  • ภาครัฐควรเร่งเข้ามาดูแลเรื่องของราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า และน้ำมัน ที่จะมีผลต่อการขนส่งสินค้า เนื่องจากขณะนี้ราคาพลังงานที่ใช้ในปัจจุบัน ยังคงเป็นต้นทุนที่สูงอยู่ แม้ภาครัฐจะมีการช่วยเหลือปรับอัตราราคาให้ต่ำลงกว่าเดิมแล้วก็ตาม 
  • ผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ต้องการให้ภาครัฐขยายการห้ามตั้งหรือขยายโรงงานเหล็กเส้นในประเทศไทยออกไปอีก ซึ่งประกาศดังกล่าว ระบุไว้ว่าประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทุกขนาด ทุกท้องที่ ในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งประกาศมีขึ้นในปี 2563 และจะครบกำหนดในปี 2568 
     

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ไทยใช้แนวทางเดียวกับประเทศมาเลเซีย ที่ห้ามตั้งโรงงานเหล็กทุกประเภทเป็นเวลา 2 ปี ถือเป็นมาตรการที่ปกป้องตลาดเหล็กในประเทศได้อย่างมาก 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมิลล์คอนฯ มีการผลิตเหล็กเส้น เหล็กแท่งทรงยาว เหล็กเส้นข้ออ้อย และผลิตภัณฑ์เหล็กคุณภาพสูงประเภทอื่นๆ รวมกำลังการผลิต 10,000-20,000 ตัน/เดือน หรือ 200,000 ตัน/ปี ซึ่งลดลงจากกำลังการผลิตเต็ม(Capacity) ที่มีถึง 600,000 ตัน/ปี กำลังการผลิตที่ไม่เต็มความสามารถดังกล่าว เกิดจากมีปริมาณเหล็กที่นำเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตเต็ม Capacity ที่มีได้ หรือใช้กำลังการผลิตเพียง 20-30% เท่านั้น 

ซึ่งสภาวะแบบนี้เกิดขึ้นกับทั้งอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ และมีแนวโน้มว่ากำลังการผลิตของแต่ละบริษัทจะลดลงเรื่อยๆ หากปัญหาการดั้มราคาของเหล็กที่นำเข้าจากจีน ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

และนี่ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ ที่ล่าสุดโรงงานเหล็กรายใหญ่และเก่าแก่ของไทยต้องปิดกิจการลง สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอุตสาหกรรมเหล็กไทยเข้าขั้นวิกฤต
  
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯมีกำลังการผลิตแต่ใช้ไม่ได้ วิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งหมดมิลล์คอนฯ และผู้ผลิตเหล็กในประเทศ ต่างวิตกกังวลอย่างมาก เพราะการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง เป็นผลจากการอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นเพิ่มเติมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยไม่ได้ศึกษาความต้องการอย่างจริงจัง ทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นเหตุให้มีการแข่งขันเชิงการค้าขายอย่างสูง