คลังถก กรมศุลฯ-สรรพสามิต 1 ธ.ค. มาตรการหนุนท่องเที่ยว-รื้อภาษีเหล้าเบียร์

29 พ.ย. 2566 | 19:20 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 19:57 น.
702

คลังเรียก “ศุลกากร-สรรพสามิต” 1 ธ.ค.นี้ ยกเลิก Duty Free ขาเข้า พร้อมปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โปรโมทสินค้าแบรนด์ไทย หนุนนักท่องเที่ยวบริโภคในประเทศเพิ่ม

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายนั้น กระทรวงการคลังจะมีการเรียกกรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เข้ามาหารือถึงแนวทางที่จะดำเนินการตามมติครม. ในวันที่ 1 ธ.ค.66 นี้ โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องไปแก้ไขกฎหมายที่ดูแล 

ในส่วนของกรมศุลกากรนั้น จะต้องมีการออกระเบียบยกเลิกการอนุญาตสินค้าทัณฑ์บน หรือการยกเลิก Duty Free ขาเข้าทุกสนามบิน เพื่อยกเลิกการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน ที่ขายสำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้านค้าปลอดอากรสำหรับผู้โดยสารขาเข้า 

“หากมีการยกเลิกสัญญา Duty Free ขาเข้าแล้ว คาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา โดยกระทรวงการคลังได้มีการหารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัด เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการซื้อสินค้าในประเทศ โดยกรมศุลกากร สามารถออกระเบียบยกเลิกการอนุญาตสินค้าทัณฑ์บนได้เลย” 

ขณะที่กรมสรรพสามิตนั้น จะมีการหารือถึงเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม และจะดูในเรื่องสุราชุมชนด้วย เนื่องจากต้องการโปรโมทสินค้าแบรนด์ไทย เพราะนักท่องเที่ยวบางกลุ่มก็ต้องการบริโภคสินค้าพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทย 

“การยกเลิกสินค้าทัณฑ์บนนั้น จะมาช่วยสนับสนุนเรื่องการบริโภคภายในประเทศ โดยคลังจะมีการดูเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มด้วย ซึ่งแทนที่นักท่องเที่ยวจะซื้อสินค้าจาก Duty Free ขาเข้า เพื่อมาบริโภคในประเทศ เปลี่ยนมาบริโภคเหล้าไทยที่มีราคาถูกกว่า” 

ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น นักท่องเที่ยว 1 คน มีสิทธิ์ซื้อเครื่องดื่ม 1 ลิตร จากร้านค้า Duty Free ขาเข้า แล้วนำมาดื่มในเข้าประเทศ เปลี่ยนเป็นมาซื้อเครื่องดื่ม ตามร้านค้าในประเทศ ซึ่งจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจด้วย ขณะเดียวกันเมื่อโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มเป็นอัตราที่เหมาะสม คนไทยก็จะได้ซื้อสินค้าเครื่องดื่มในราคาที่เหมาะสมด้วย โดยแพ็คเก็จของมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ จะทำให้บรรยากาศของประเทศไทย เป็นประเทศที่น่ามาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น 

“การปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่ม ต้องออกเป็นกฎหมาย ซึ่งกระทรวงการคลัง ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบ ส่วนการยกเลิกร้านค้า Duty Free ขาเข้า กรมศุลกากร ต้องออกระเบียบเพื่อยกเลิก ให้เกิดความชัดเจน โดยมาตรการดังกล่าว จะเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน Soft Power นั้น โดยขณะนี้คณะทำงานกำลังเร่งศึกษามาตรการทั้งหมด เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลเห็นชอบในเร็วๆ นี้

“กระทรวงการคลังได้ประชุมหารือถึงมาตรการสนับสนุนส่งเสริม Soft Power ไปแล้วหนึ่งครั้ง และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการบ้าน แล้วนำกลับมาเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง เพราะมาตรการส่งเสริมมีรายละเอียดปลีกย่อยจำนวนมาก เนื่องจาก Soft Power มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายภาคอุตสาหกรรม”