บิ๊กธุรกิจสายการบิน-โรงแรม โกย 3.1 แสนล้าน 9 เดือนแรก ปี2566 พลิกทำกำไร

28 พ.ย. 2566 | 15:21 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2566 | 15:42 น.

การท่องเที่ยวในปีนี้ที่ฟื้นตัว ส่งผลให้บิ๊กธุรกิจท่องเที่ยว รายได้พุ่งถ้วนหน้า โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ โรงแรมและสายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯส่วนใหญ่เริ่มทยอยพลิกกลับมาทำกำไรแล้ว

ปัจจุบันไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยทะลุ 24 ล้านคนแล้ว ขณะที่การเดินทางเที่ยวในประเทศก็ขยายตัวเช่นกัน ส่งผลให้บิ๊กธุรกิจท่องเที่ยว รายได้พุ่งถ้วนหน้า โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ โรงแรมและสายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯส่วนใหญ่เริ่มทยอยพลิกกลับมาทำกำไรแล้ว

จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่าการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 นี้ ทุกบริษัทต่างมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะ 9 บริษัทใหญ่ในธุรกิจโรงแรมและสายการบิน โกยรายได้รวมกันทะลุ 311,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ที่มีรายได้รวมกันอยู่ที่ 206,020 ล้านบาท และในปีนี้ธุรกิจส่วนใหญ่ต่างพลิกกลับมาทำกำไรแล้ว

ผลประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว 9 เดือนแรกปี 2566

โดยธุรกิจสายการบิน แม้จะมีปัจจัยของราคานํ้ามันที่ปรับตัวสูง ขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สายการบินที่ทำรายได้สูงสุดคงหนีไม่พ้น “การบินไทย” ที่ 9 เดือนแรกของปีนี้การบินไทยมีรายได้อยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าสูงกว่าปี 2565 ทั้งปีที่อยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาทไปแล้ว และในช่วงไตรมาส 4 ก็เป็นช่วงไฮซีซันดีมานต์การเดินทางจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ “การบินไทย” คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ทั้งปีแตะ 1.5 แสนล้านบาท ไม่เพียงรายได้ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ การบินไทย ยังพลิกจากขาดทุนกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท มาทำกำไร 1.6 หมื่นล้านบาท

การบินไทย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากรายได้จากการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีกระแสเงินสดสะสมกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลักๆนอกจากทยอยนำไปชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ยังนำมาใช้ในการขยายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

บิ๊กธุรกิจสายการบิน-โรงแรม โกย 3.1 แสนล้าน 9 เดือนแรก ปี2566 พลิกทำกำไร

โดยเฉพาะการเช่าเครื่องบินใหม่อีก 26 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 737-9 จำนวน 1 ลำ แอร์บัสเอ 350 จำนวน 11 ลำ แอร์บัสเอ 330 จำนวน 2 ลำ และแอร์บัสเอ321 นีโอ จำนวน 12 ลำ ที่ทยอยรับมอบเข้ามาแล้ว 3 ลำ ในกลางปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 10 ลำ และจะครบทุกลำในปี 68 ทำให้การบินไทยมีเครื่องบินมาให้บริการได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ “บางกอกแอร์เวย์ส” ไม่เพียงแต่รายได้เติบโตเป็น 2 เท่า จาก 8.1 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีก่อน เป็น 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ยังพลิกจากขาดทุน 2.2 พันล้านบาท กลับมาทำกำไร 3.4 พันล้านบาทด้วย

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้สายการบินได้ให้บริการผู้โดยสารไปแล้วกว่า 3 ล้านคน บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 3,456.6 ล้านบาท เป็นกำไรจาการดำเนินงาน 3,183.6 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 367.2% จากรายได้บัตรโดยสารของธุรกิจสนามบิน และรายได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก

บิ๊กธุรกิจสายการบิน-โรงแรม โกย 3.1 แสนล้าน 9 เดือนแรก ปี2566 พลิกทำกำไร

แม้ว่าในส่วนค่าใช้จ่ายปรับสูงขึ้น 34.3% ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น คือ ค่านํ้ามันเชื้อเพลิง และค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน และสายการบินทยอย กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ขณะที่ “ไทยแอร์เอเชีย” แม้จะยังขาดทุนอยู่ แต่ก็ถือว่าขาดทุนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า แม้ว่าบริษัทจะขาดทุนสุทธิ แต่ผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ได้รับผล กระทบอย่างหนักต่อเนื่องจากต้นทุนนํ้ามันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

บิ๊กธุรกิจสายการบิน-โรงแรม โกย 3.1 แสนล้าน 9 เดือนแรก ปี2566 พลิกทำกำไร

สำหรับเป้าหมายตลอดปี 2566 ยังมั่นใจว่าจะขนส่งผู้โดยสารที่ 20 ล้านคน (9 เดือนเเรก ขนส่งไปเเล้ว กว่า 13.8 ล้านคน) อัตราขนส่งผู้โดยสาร 87% สามารถนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบิน 50 ลำ จากฝูงบิน 54 ลำที่มีอยู่ ณ สิ้นปี ทั้งในไตรมาส 4 ไทยแอร์เอเชียได้ปรับกลยุทธ์สำคัญ โดยเพิ่มจำนวนเที่ยวบินตลาดภายในประเทศ 20% จากไตรมาสก่อน เเละเพิ่มบินเส้นทางระหว่างประเทศสู่ คยา กูวาฮาติ อัมห์ดาบาด ประเทศอินเดีย และซัวเถา ประเทศจีน เพื่อคว้าโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ นายสันติสุข กล่าวทิ้งท้าย

ในส่วนของธุรกิจโรงแรมในเครือของผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่ของไทย ทุกบริษัทล้วนมีกำไรสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และกลับมาทำกำไรกันส่วนใหญ่แล้ว ยกเว้นดุสิตธานี ที่ยังขาดทุนอยู่ แต่ก็ขาดทุนลดลง เนื่องจากรายได้รายได้หลักของดุสิตธานี จะอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสร้างโรงแรมใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีการขยายตัวของรายได้สูงสุด คือ “ไมเนอร์ กรุ๊ป” หรือ MINT โดยทำรายได้สูงถึง 1.1 แสนล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ และทำกำไรถึง 2.3 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 2 เท่า และยังทุบสถิติกำไรสุงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย อันเป็นผลมาจากธุรกิจโรงแรม ของกลุ่ม “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะโรงแรมในทวีปยุโรปที่เป็นแรงหนุนหลักในการเติบโตของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้น จากความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ขณะที่ธุรกิจอาหาร ของ “ไมเนอร์ ฟู้ด” ก็ฟื้นตัวขึ้น ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนของไมเนอร์

บิ๊กธุรกิจสายการบิน-โรงแรม โกย 3.1 แสนล้าน 9 เดือนแรก ปี2566 พลิกทำกำไร

สำหรับอีกโรงแรมที่มีการเติบโตสูง คือ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ที่รายได้และกำไรยังพุ่งต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถขายห้องพักในราคาที่สูงกว่าก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ใน 9 เดือนแรกสูงถึง 3,619 บาท เพิ่มขึ้น 87.6% และ AWC ยังเดินหน้าเปิดโรงแรมใหม่ 4 แห่งอย่างต่อเนื่องในปีหน้าภายใต้การลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โรงแรมแมริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา พัทยา, โรงแรมที่พัทยาในแบรนด์ของ IHG, โรงแรมคิมป์ตัน หัวหิน และโรงแรมแฟร์มอนท์ แบงคอก สุขุมวิท กรุงเทพฯ

ทั้งหมดเป็นภาพรวมของบิ๊กธุรกิจท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัวกลับมา แข็งแกร่งขึ้นอีกครั้ง