เปิด “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุด 16 ล้านล้าน อสังหา-อุปโภคบริโภคพุ่งสูงสุด

27 พ.ย. 2566 | 14:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2566 | 14:31 น.
950

สศช.เปิดข้อมูล “หนี้ครัวเรือน” ล่าสุด 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยพบหนี้อสังหาริมทรัพย์ และหนี้อุปโภคบริโภคพุ่งสูงสุด

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า ในช่วงไตรมาสสอง ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับลดลงเล็กน้อย 

สำหรับหนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2566 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.7% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาสินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยหนี้สินครัวเรือนมีเพิ่มขึ้นมาจากหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนมากเป็นสองอันดับแรกของหนี้สินครัวเรือนทั้งหมด

 

หนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2566

 

โดยในไตรมาสสอง ปี 2566 สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 4.9% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ทยอยฟื้นตัว แม้จะมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนการกู้ยืมหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ขยายตัว 5.5% ปรับเพิ่มจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 5.4% 

สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการใช้จ่ายในสินค้าไม่คงทนที่เร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 5.7% ส่วนสินเชื่อยานยนต์ขยายตัว 1% จากการปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่เข้มงวดขึ้น

ขณะเดียวกันยังพบว่า ในไตรมาสสอง ปี 2566 หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 2.68% จากไตรมาสก่อน โดยประเภทสินเชื่อที่มีปัญหามากขึ้นคือ สินเชื่อยานยนต์ที่เริ่มเห็นหนี้ NPL เพิ่มขึ้น 

โดยหนี้เสียคงค้างของสินเชื่อยานยนต์ขยายตัวสูงถึง 40.9% หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.05% เพิ่มขึ้นจาก 1.89% ของไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนของสินเชื่อประเภทอื่นกลับทรงตัวหรือลดลง และเมื่อพิจารณาหนี้ที่มีการค้างชำระ 1 - 3 เดือน (SML) พบว่า ภาพรวมสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมทรงตัวอยู่ที่ 6.7 แต่สินเชื่อยานยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 14.4% เพิ่มต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ติดต่อกัน

 

หนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2566

อย่างไรก็ตาม สศช. มีข้อแนะนำในประเด็นหนี้สินครัวเรือนที่ควรให้ความสำคัญ 2 เรื่อง ดังนี้

1. ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ 

ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ซึ่งจำเป็นต้องทำควบคู่กับการยกระดับรายได้ โดยการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการพักหนี้เกษตรกรในช่วงปี 2557 – 2566 ผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พบว่า มาตรการพักหนี้ของภาครัฐ6ไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้ เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการฯ มากกว่า 3 ใน 5 จะก่อหนี้ใหม่ 

ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ในการทำการเกษตรไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายและการทำการเกษตรในฤดูกาลถัดไป สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ที่พบว่า ครัวเรือนเกษตรขาดทุนหรือมีรายได้จากการทำการเกษตรต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ถึง 25.6๔ หรือคิดเป็น 6.6 แสนครัวเรือน

2. การเร่งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

หากพิจารณาหนี้เสียหรือลูกหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากข้อมูลเครดิตบูโร พบว่า มูลค่าหนี้เสียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่าหนี้เสียคงค้าง 3.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 22% จากไตรมาสก่อน

โดยมีจำนวนบัญชีหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.9 ล้านบัญชีจาก 4.4 ล้านบัญชี เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ซึ่งต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้เป็นปกติ