ปศุสัตว์ร่วมทหาร จับลักลอบนำเข้าโคเมียนมา สกัดโรคปาก-เท้าเปื่อย

25 พ.ย. 2566 | 16:25 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2566 | 16:44 น.

ชุด ฉก.กรมปศุสัตว์ร่วมเจ้าหน้าที่ทหาร สกัดกั้นรถบรรทุกลักลอบเคลื่อนย้ายโค 16 ตัว ผ่านชายแดนไทย-เมียนมา พร้อมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ ล่าสุดออกประกาศขยายเวลาชะลอการนำเข้าสัตว์กีบคู่ทั้งโค กระบือ แพะ แกะจากเมียนมา จากยังพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ได้รับรายงานจากนายญาณากร แห่งพิษ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปางมะผ้า ชุดเฉพาะกิจด่านกักกันสัตว์แพร่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยทหารราบที่ 712 ฉก.สิงหนาท โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ลักลอบเคลื่อนย้ายโค ซึ่งคาดว่าลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนมา

ปศุสัตว์ร่วมทหาร จับลักลอบนำเข้าโคเมียนมา สกัดโรคปาก-เท้าเปื่อย

ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่จับกุมได้ ระหว่างลาดตระเวนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา บ้านไม้ซางหนาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากที่มีสายข่าวรายงานว่า จะมีการลักลอบเคลื่อนย้ายโคจากประเทศเมียนมาจึงได้ซุ่มตรวจสอบบริเวณเส้นทางหลวงชนบท มส 4015 ระหว่างหมู่บ้านน้ำฮู-ผาเสื่อกับหมู่บ้านไม้ซางหนาม

ปศุสัตว์ร่วมทหาร จับลักลอบนำเข้าโคเมียนมา สกัดโรคปาก-เท้าเปื่อย

ต่อมาพบรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกโคมีชีวิต 16 ตัว เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเรียกดูใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ และเอกสารประกอบอื่น ๆ แต่คนขับไม่สามารถหามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งความผิดฐานนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์

มีความผิดตามมาตรา 31 โดยมีโทษตามมาตรา 68 แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยไม่ได้รับอนุญาต ของพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560

ปศุสัตว์ร่วมทหาร จับลักลอบนำเข้าโคเมียนมา สกัดโรคปาก-เท้าเปื่อย

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และยึดอายัดของกลางโคมีชีวิตทั้งหมดกักไว้ ณ คอกกักสัตว์ด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อทดสอบโรคต่อไป

ปศุสัตว์ร่วมทหาร จับลักลอบนำเข้าโคเมียนมา สกัดโรคปาก-เท้าเปื่อย

นายสัตวแพทย์สมชวน กล่าวอีกว่า ได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ 2 ฉบับเกี่ยวกับการขยายเวลาชะลอการนำเข้าสัตว์กีบคู่ได้แก่ โค กระบือ แพะ และแกะจากเมียนมาเนื่องจากยังพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่แล้ว

ประกอบด้วย ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พ.ศ. 2566 และประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งแพะ แกะ หรือซากแพะ ซากแกะ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พ.ศ. 2566

โดยที่ผ่านมายังพบการระบาดของโรคดังกล่าว กรมปศุสัตว์จึงออกประกาศชะลอนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะ ล่าสุดในพื้นที่ของเมียนมา ยังไม่มีรายงานการปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (WOAH) ซึ่งโรคนี้ สามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตายโดยโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวไปยังท้องที่ต่างๆ

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ดังกล่าวแพร่กระจายเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะในประเทศ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ออกประกาศให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ แพะ แกะ หรือซากแพะ ซากแกะที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประกาศกรมปศุสัตว์ทั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 และสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

"นับแต่มีรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในเมียนมา จึงสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ที่มีพื้นที่ติดชายแดนทุกแห่งเข้มงวดตรวจสอบ โดยจัดอัตรากำลังกว่า 100 นาย ทำหน้าที่ชุดลาดตระเวนและหาข่าวตามแนวชายแดน ตั้งจุดตรวจสกัดป้องกันการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง และประสานหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานศุลกากร ทหาร ตำรวจ เพื่อบูรณาการทำงานการป้องกันและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสัตว์และซากสัตว์"  

นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ประชุมหารือจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะใหม่ ให้สามารถนำเข้าสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ไม่นำโรคระบาดสัตว์เข้าสู่ประเทศ อันจะส่งผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ โดยระหว่างนี้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ รายงานและดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ หรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ด่านกักกันสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา