ลุยสอบเส้นทางเงินนักการเมืองแก๊งค์นำเข้า"หมูเถื่อน"

24 พ.ย. 2566 | 13:14 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2566 | 13:30 น.

"ธรรมนัส" แถลงคืบหน้าคดีปราบหมูเถื่อน เผย ดีเอสไอ ส่งสำนวน ป.ป.ช. โยง "กลุ่มทุน-ข้าราชการระดับสูง-อดีตนักการเมือง" มีเอี่ยว

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงความคืบหน้ากรณีการปราบปรามการนำเข้าหมูเถื่อน โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและการจัดเก็บภาษีกรมศุลกากร ร่วมการแถลงข่าว 

ร.อ.ธรรมนัส รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศสงครามกับเรื่องการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อนโดยเฉพาะเรื่องของ "หมูเถื่อน" ที่ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ จากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ได้จัดตั้งชุดปฏิบัติการพิเศษซึ่งได้แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย หลายหน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่ทำงานลับและสามารถตรวจค้นได้ทันที โดยอาศัย พ.ร.บ โรคระบาด ซึ่งในเรื่องคดีต่าง ๆ ได้ทำงานแบบบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กรมศุลกากร DSI และ ปปง.อย่างจริงจังจนกลายเป็นคดีที่พิเศษที่ นายกฯ และประชาชนให้ความสนใจ
 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวสรุปว่า ณ เวลานี้ กลุ่มผู้กระทำความผิด ได้ซัดทอดไปถึงกลุ่มที่ 2 ซึ่ง DSI ได้ส่งสรุปสำนวนถึง ปปช. แต่ข้อมูลยังเป็นความลับ ส่วนเรื่องความผิดรายย่อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการทุกคดี ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างจริงจัง ทำงานเชิงรุก ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยสามารถสืบสวนถึงต้นตอได้ทั้ง 161 ตู้ ประกอบด้วยกลุ่มนักการเมือง กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มระดับลูกจ้างทั้งหมด 

อีกทั้ง ในขณะนี้ ทุกหน่วยงานได้เซตซีโร่ห้องเย็นทั้งหมด หลังจากนี้ไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 หากไม่มาขึ้นทะเบียน จะถือว่าเป็นห้องเย็นเถื่อน ซึ่งรวมไปถึงห้องเย็นที่อยู่ตามรถบรรทุกต่าง ๆ ด้วย และรวมไปถึงกรณีการนำเข้าเถื่อนในประเภทอื่น ๆ  นอกจากเหนือจากหมูด้วย เช่น สินค้าการประมง เกษตร ยางพารา ขณะที่ขั้นตอนการฝังกลบ สินค้าเถื่อนจะดำเนินการภายในสิ้นเดือนนี้แต่ขอสงวนสิทธิ์ เป็นความลับซึ่งหลังจากที่ทำลายเรียบร้อยทั้งหมดแล้วจะเปิดเผยรายละเอียดให้สังคมได้รับทราบต่อไป

นายสัตวแพทย์ สมชวน อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่า จากการดำเนินการปราบปรามสินค้าเกษตรเถื่อน ตั้งแต่ 10 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน ห้องเย็นที่กรมฯ บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กอ.รมน. จังหวัด ดีเอสไอส่วนกลางและภูมิภาค ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ร่วมดำเนินการตามข้อสั่งการของ รมว.กษ.ได้ตรวจสอบห้องเย็นทั้งสิ้น  2,210 แห่ง 

ทั้งนี้ สำหรับห้องเย็นในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์กรณีเพื่อนำเข้าและส่งออก, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงาน อุตสาหกรรม, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน, ห้องเย็นที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง และห้องเย็นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใด ๆ เลย จำนวน 1,100 ห้องเย็นซึ่งเป็นห้องเย็นขนาดเล็ก 

โดยผลการบังคับใช้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ 2558 และพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ 2559 ซากสัตว์ที่ถูกอายัติดำเนินคดี โค กระบือ สุกร สัตว์ปีก รวมซากสัตว์ทั้งหมดจากการประกาศสงครามกับการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย จำนวน 2,568,322 กิโลกรัม อยู่ในพื้นที่ 35 จังหวัด รวม 92 คดี เป็นคดีที่ผิดทั้งในประเทศ อาทิ โรงฆ่าเถื่อน ไม่มีแหล่งที่มา หรือไม่ได้ขออนุญาต 

ด้านนายบัญชา รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ได้ดำเนินการตามมาตรการนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัดโดยร่วมบูรณาการในการตรวจสอบ ภายใต้ชื่อชุด "ฉลามขาว" และให้ประมงจังหวัดปูพรมร่วมกับปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรวจสอบห้องเย็น จำนวน 2,062 แห่ง ส่วนการนำเข้าสัตว์น้ำ กรมประมงเร่งรัดดำเนินการเพื่อประสานนำข้อมูลกับ DSI กรณีพบหลักฐานว่า เป็นสัตว์น้ำหรือสัตว์ชนิดอื่น กรมประมงจะเร่งรัดดำเนินการต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ของกลางหมูเถื่อน จำนวน 161 ตู้ จากการบูรณาการสืบสวนสอบสวน มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อว่า เป็นองค์กรอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตรกร เป็นการทำความผิดจากบุคคล 3 กลุ่ม คือ กลุ่มนายทุน กลุ่มข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอดีตข้าราชการการเมือง ซึ่งจากการตรวจสอบคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช.

อย่างไรก็ดี ระหว่างดำเนินการ พบว่า กระบวนการนี้มีการนำเข้าของเถื่อนมาในช่วง "ห้ามนำเข้าเศษซากหมู ในปี 2564-2566 จำนวน 2,385 ตู้ โดยได้ดำเนินการควบคู่ไปกับ ปปง. จะมีการยึดทรัพย์คู่ขนานไปด้วย ในส่วนของคดีที่ 2 ที่เป็นอุปสงค์ให้กับคดีแรกมีผู้เข้ามอบตัว โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการเอาผิดทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยจะดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด

พ.ต.ต.สุริยา อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า สำหรับกลุ่มอดีตข้าราชการการเมืองนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ซึ่งเบื้องต้นมีประมาณ 10 ราย ขอสงวนรายชื่อไว้ก่อนเมื่อส่งสำนวนไป ป.ป.ช.ไม่อาจเปิดเผยได้ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มทุน ขบวนการบริษัท ที่เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งต้องสาวต่อไปเนื่องจากข้าราชการไม่ได้เอามาเพื่อขายเอง แต่มีการสั่งในล็อตที่นำเข้ามาผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การดำเนินการกับองค์การอาชญากรรมขนาดใหญ่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดีในการส่งข้อมูลมาให้ ทั้งนี้ สำหรับประชาชนหากมีข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแจ้งเข้ามาที่ดีเอสไอได้ตามนโยบายที่ รมว.ยุติธรรม สั่งการ โดยคาดว่า ภายในต้นปี 2567 จะชัดเจนมากขึ้น

ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ รองเลขาธิการ ปปง. ระบุว่า ความผิดตาม พรบ. ศุลกากร ลักลอบนำเข้า รับสินค้าหลบหนีภาษีศุลกากรเป็นความผิดมูลฐาน และอยู่ในอำนาจ ปปง. ทั้งสัตว์ อาหาร พืช โดยความผิดจากที่ดีเอสไอได้กล่าวมา ปปง. ได้เอาผิดและยึดทรัพย์ 8 บุคคล 6 บริษัท จำนวน 53 ล้าน ซึ่งระหว่างนี้ได้ประสานกับดีเอสไอถึงพยานหลักฐาน และจะดำเนินการยึดทรัพย์กลุ่มต่อไป ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี ผู้ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มที่ ปปง. จะดำเนินการทางแพ่งและยึดทรัพย์มาดำเนินคดีในชั้นศาลทั้งหมด ผู้ที่เกี่ยวข้องจำต้องไปชี้แจงการได้มาถึงทรัพย์ดังกล่าวในชั้นศาลอีกทีหนึ่ง เพื่อคุ้มครองสินค้าอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือสินค้าทางการเกษตรของพี่น้องประชาชนที่เป็นเกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสม และไม่มีการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาทำลายราคา ไม่ทำให้พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ยืนยัน ปปง. ดำเนินการสุดความสามารถ