ไทยผงาดอันดับ 12 ส่งออกอาหารโลก ปี 66 มั่นใจทะลุเป้า เล็งปี 67 โต 1.65 ล้านล้าน

23 พ.ย. 2566 | 18:43 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 19:08 น.
1.7 k

3 สถาบัน เผยส่งออกอาหาร 9 เดือนแรกปี 66 ทำรายได้เข้า 1.16 ล้านล้านบาท คาดทั้งปีเป้า 1.55 ล้านล้านไม่พลาด ขึ้นอันดับ 12 โลก เล็งปีหน้าพุ่ง 1.65 ล้านล้าน สวนเศรษฐกิจโลกซบ ระบุตลาดจีน-อาเซียนยังวิ่งฉิว จับตาโปแลนด์มาแรงขึ้นท็อปเทนส่งออกอาหารโลก

รายงานข่าว (23 พ.ย.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ร่วมแถลงการส่งออกอาหารไทยช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 ว่า มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดทั้งปีจะส่งออกได้ 1.55 ล้านล้านบาท และประเมินปี 2567 จะทำได้ที่ 1.65 ล้านล้านบาท ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกโตต่ำ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูง สงครามที่ยังคุกรุ่น ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร และปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบต่อผลิตเกษตรอาหารทั่วโลก

นางอรอนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานในเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร สถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมบูรณาการ

ทั้งนี้จากข้อมูล พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 มีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้

ไทยผงาดอันดับ 12 ส่งออกอาหารโลก ปี 66 มั่นใจทะลุเป้า เล็งปี 67 โต 1.65 ล้านล้าน
 

ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย

ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย  ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนามเป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2566 ขยายตัว ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1, 2 และ 3 ของไทยในปัจจุบัน ตามลำดับ โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง

สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ

“แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5”

ขณะที่แนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทย 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 2567 คาดจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อเริ่มคลายตัวลงหลังทางการประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดในช่วงก่อนหน้า สินค้าอาหารไทยได้รับประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้ากังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินบาทผันผวนน้อยลงและยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร โดยในปี 2567 เงินบาทที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ย 35.00  บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปี 2566 ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ซึ่งเป็นระดับที่จะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทย

สำหรับการค้าอาหารโลกในปี 2566 มีมูลค่า 1.824 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้บริโภค เงินเฟ้อที่ยังคงสูงในหลายประเทศ กระทบกำลังซื้อของผู้บริโภคให้อ่อนตัวลง อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอการลงทุนของผู้ผลิต เพราะต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น อาจทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาก การลดลงของราคาอาหารโลก (ยกเว้นราคาน้ำตาล) ทำให้ประเทศผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง

การขาดแคลนวัตถุดิบและการลดลงของผลผลิตการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่น ในอินเดียที่ทำให้ทางการต้องออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวและน้ำตาล รวมถึงนำเข้าสินค้าน้ำมันพืชมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภาวะสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรปตะวันออกยังคงคุกรุ่น ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้าและค่าขนส่ง

ในปี 2566 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.47 จากร้อยละ 2.25 ในปีก่อน ในขณะที่ประเทศจีนและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับไทย ส่วนอินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีส่วนแบ่งตลาดอาหารโลกลดลงจากปีก่อน จากมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอาหารหลายรายการเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของอินเดีย รวมถึงสินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซียและมาเลเซียอย่างน้ำมันปาล์มที่มีราคาลดลง

ในปี 2566 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2565 โดยที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และเนเธอร์แลนด์ ยังคงเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ถึง 3 ของโลกตามลำดับเช่นเดียวกับปีก่อน ส่วนจีนแซงเยอรมนีขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ขณะที่ประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่อันดับตกลง ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และอินเดีย ยกเว้นเวียดนามที่อันดับโลกดีขึ้น 2 อันดับ

ทั้งนี้ โปแลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารที่เติบโตเร็วและน่าจับตามองที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยโปแลนด์ใช้เวลาเพียง 6 ปี ในการก้าวจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 18 ของโลก ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 10 ของโลก (TOP 10) ซึ่งโปแลนด์ได้รับประโยชน์มากหลังจากเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป สินค้าที่มีศักยภาพของโปแลนด์ ได้แก่ กลุ่มปศุสัตว์ทั้งสัตว์ปีก เนื้อวัว เนื้อหมู กลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม น้ำตาลและลูกกวาด ปลาและผลิตภัณฑ์ปลา และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิล หัวบีท หัวหอม และกะหล่ำปลี เป็นต้น

ไทยผงาดอันดับ 12 ส่งออกอาหารโลก ปี 66 มั่นใจทะลุเป้า เล็งปี 67 โต 1.65 ล้านล้าน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต  กล่าวว่า จากตัวเลขรายงานแสดงให้เห็นชัดว่าสถานการณ์ของโลกอยู่ในบรรยากาศชะลอตัว จากสาเหตุต่าง ๆ ทั้งประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อจากการขึ้นดอกเบี้ยส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น จากผู้ที่มีหนี้อยู่แล้วส่งผลให้มีหนี้เพิ่มมากขึ้น  กระทบต่อกำลังซื้อและความกังวลของผู้บริโภคทำให้ไม่กล้าใช้จ่ายเงิน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การส่งออกสินค้าทุกตัวมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน ในช่วง 9 เดือนแรก สำหรับสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ คือ ข้าว และ ไก่ เนื่องจากผู้บริโภคนั้นเริ่มซื้อวัตถุดิบไปทำเอง ประกอบกับสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศดีขึ้น ร้านอาหารหลาย ๆ แห่งเริ่มทยอยเปิดขึ้นมา

ปัจจุบันหลายประเทศมีการสนใจเรื่อง Food Security ความปลอดภัยด้านอาหารเพิ่มมากขึ้น มีการงดการส่งสินค้าโดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกอาหารคู่แข่งกับไทยเริ่มปรับนโยบายลดการส่งออกสินค้าบางชนิด เช่น ข้าว และน้ำมันพืช ในส่วนของสินค้าน้ำตาลทรายถือเป็นสัญญาณที่ดีไปต่อได้ หลังจากสถานการณ์โควิดหลายประเทศเริ่มมีการนำเข้ามากขึ้น เพราะน้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบของอาหารหลายชนิดและเครื่องดื่ม  ในด้านผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทย เช่น กะทิ และน้ำมะพร้าว ได้รับความสนใจมาก โดยตลาดหลักคือ จีน รองลงมาคือไต้หวัน  นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาบริโภคผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวของไทยมากขึ้น และน้ำมะพร้าวน้ำหอมไทยยังเติบโตได้ดีมากในประเทศจีน

สำหรับสินค้าที่ยังติดลบอยู่นั้น จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมีการนำเข้าไปก่อนหน้านี้เพื่อไปสต๊อกเก็บไว้  จึงต้องมีการทยอยใช้ของในสต๊อกไปก่อน จึงส่งผลให้ลดการนำเข้าสินค้าในบางตัว  ในส่วนของอาหารพร้อมรับประทาน Ready to eat ถือว่าเป็นสัญญาณดีเพราะผู้บริโภคมีความต้องการมากขึ้น (Single Serve) ผู้ประกอบการไทยทำได้ดี อีกทั้งราคาของไทยยังสามารถแข่งขั้นได้เมื่อเปรียบเทียบกับราคาในร้านอาหาร

ด้าน Future Food มีการส่งออกมาก แต่มี Pain Point 2 เรื่อง คือ 1) รสชาติที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ข้อดีเป็นอาหารเชิงสุขภาพ และ 2) Diversify อาหารทดแทนเนื้อสัตว์จากพืช ซึ่งมีการผลิตแต่ละครั้งน้อย ยังไม่สามารถทำ Economies of Scale ได้ ส่งผลให้มีต้นทุนสูง การรับรู้ของผู้บริโภคยังอยู่เฉพาะกลุ่มที่จำกัด ต้องขยายในกลุ่ม Flexitarian ออกไป

สำหรับภาคเกษตร จากการจัดสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ที่ผ่านมา ได้มีการยื่นข้อเสนอในสมุดปกขาวต่อด้านเกษตรและอาหาร คือ การพัฒนาขับเคลื่อนการยกระดับเกษตรมูลค่าสูงผ่านการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ (Area-based) โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรแม่นยำ พัฒนาพันธุ์พืชที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น พื้นที่ปลูกพืชเกษตรมูลค่าต่ำไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ดึงคนรุ่นใหม่มาช่วยสร้างนวัตกรรม เพื่อให้เกิด Productivity ลดต้นทุน สร้างมาตรฐานและความปลอดภัย เน้นตลาดนำการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปด้วย เช่น การผันน้ำขุนยวมลงเขื่อนภูมิพล, ธนาคารน้ำใต้ดิน และคลองส่งน้ำเชื่อมโยงระบบส่งน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น

ด้านแรงงานประเทศไทยถือว่าอยู่ในสถานกาณ์ที่ขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับสถิติการเกิดที่ลงลด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องค่อยๆ เสริมเรื่องเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาใช้เรื่อยๆ พร้อมนำองค์ความรู้เรื่องใหม่ๆ เข้ามาด้วยให้ทันต่อสถานการณ์โลก  ทั้งเรื่องการนำ BCG Model และ ESG มาใช้กับภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมและพัฒนาภาคธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน

นอกจากนี้ หอการค้าไทย ได้ร่วมขับเคลื่อนโครงการธนาคารอาหาร (Food Bank) ของประเทศไทย และสนับสนุนการรวบรวมและส่งต่อผลผลิตการเกษตรส่วนเกินจากภาคการผลิตเพื่อแปรรูปเป็นอาหารให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลน โดยได้ดำเนินการส่งต่ออาหารแล้ว 1.4 ล้านมื้อ ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า  8 แสนกิโลกรัม แก้ไขปัญหา Food Waste และช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

ไทยผงาดอันดับ 12 ส่งออกอาหารโลก ปี 66 มั่นใจทะลุเป้า เล็งปี 67 โต 1.65 ล้านล้าน

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA )เป็นเรื่องสำคัญ โดยสินค้าที่มีศักยภาพของไทยได้แก่ ข้าว ไก่เนื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ GCC คูเวต ที่มีความต้องสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องจากไทยในตลาดมากกว่า 50% ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจำเป็นต้องส่งเสริมเรื่องการจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยพัฒนาระบบชลประทาน ระบบน้ำบาดาล การกักเก็บน้ำฝน รวมถึงการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการใช้น้ำในแต่ละภูมิภาค มีการทำเกษตรรูปแบบ Smart Farming รวมถึงใช้การท่องเที่ยวช่วยยกระดับสินค้าเกษตรเกษตร เป็นต้น

ไทยผงาดอันดับ 12 ส่งออกอาหารโลก ปี 66 มั่นใจทะลุเป้า เล็งปี 67 โต 1.65 ล้านล้าน