กฤษฎีกา รับแล้วตีความพรบ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต ไล่เช็คกฎหมายเพียบ

15 พ.ย. 2566 | 06:02 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2566 | 06:29 น.
1.3 k

กฤษฎีกา ขยายความนายกฯ สั่งตีความกฎหมาย พรบ.กู้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท พร้อมรับลูกไล่เช็คกฎหมายการเงินหลายฉบับ รับรัฐบาลเปิดโอกาสใช้เวลาดูเต็มที่ให้รอบคอบก่อนชงบอร์ดดิจิทัลชุดใหญ่

จากการณีรัฐบาลผลักดันโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) โดยเตรียมออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า การดำเนินการจะต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้องนั้น

ล่าสุด นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการโดยตรงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จะพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบ โดยจะมีการพิจารณากฎหมายหลายฉบับ ทั้ง รัฐธรรมนูญ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กรอบหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กฎหมายหนี้สาธารณะ และกฎหมายเงินตรา รวมทั้งข้อกำหนดภายใต้ พ.ร.บ.การเงิน โดยจะพิจารณเงื่อนไขต่าง ๆ ว่า อะไรที่สามารถทำได้บ้าง หรือทำไม่ได้ 

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

“นายกฯ ได้กำชับว่าให้ใช้เวลาในการดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้เต็มที่ เพื่อให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด เพราะไม่อยากทำผิดฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไรให้ว่าอย่างนั้น ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาในชั้นของกฤษฎีกา อาจจะใช้ระยะเวลานานเพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านข้อกฎหมายมากที่สุด” 

นายปกรณ์ กล่าวว่า การพิจารณาข้อกฎหมายต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การออกกฎหมายเกิดความรอบคอบมากที่สุด แต่ในขั้นตอนการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ยังไม่ถึงขนาดต้องตั้งคณะกรรมการพิเศษของกฤษฎีกาขึ้นมาพิจารณา แม้ว่าตามแผนการทำงานของรัฐบาลจะให้กฎหมายการกู้เงินเข้าสู่สภาฯได้ภายในเดือน ม.ค.2567 ซึ่งเชื่อว่าคณะทำงานจะปรับกรอบการทำงานได้ 

อย่างไรก็ตามในการพิจารณาข้อกฎหมายต่าง ๆ นั้น หากดำเนินการเสร็จสิ้นคณะกรรมการกฤษฎีกา จะสรุปรายละเอียดข้อแนะนำด้านกฎหมายเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายโครงการเติม เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาอีกครั้ง ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

 

ภาพประกอบข่าว โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

“ในการประชุมบอร์ดเงินดิจิทัล ชุดใหญ่ที่ผ่านมา ยอมรับก่อนการประชุม กฤษฎีกายังไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท โดยมีการเสนอเข้ามาในที่ประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าคณะอนุกรรมการฯได้มีพิจารณาถึงที่มาของเงินที่จะมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้วเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท”

นายปกรณ์ กล่าวว่า ในกรณีที่มีการไปร้องเรียนกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงินเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 53 ของ พ.ร.บ.การเงินการคลัง กรณีนี้ คงไม่สามารถตอบได้ เพราะรัฐบาลได้มีการเสนอแนวคิดที่จะออกกฎหมายเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แล้วขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น โดยส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกหนักใจอะไร