กสิกรไทย เปิด 5 ความเสี่ยง พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท

14 พ.ย. 2566 | 18:34 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2566 | 15:58 น.
713

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิด 5 ความเสี่ยง หลังรัฐบาลจะออก พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต พร้อมตั้งคำถามรัฐบาล จำเป็นต้องออก พรบ.กู้เงิน เพื่อแจกเงินหรือไม่? ชี้ ถ้าดำเนินนโยบายผิดพลาด ส่งผลความน่าเชื่อถือตลาดทุน

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 1 หมื่นบาท ผ่านการออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าถูกต้อง และถูกเวลาแล้งหรือไม่? มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องกู้มากน้อยเพียงใด?

ทั้งนี้ จำนวนเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะกู้ คิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP นั้น ถือว่าไม่ได้เยอะ ในขณะที่ฐานะทางการคลังของไทยยังแข็งแกร่งอยู่ เพดานหนี้สาธารณะก็ยังไม่ถึง 70% ต่อจีดีพี แต่ก็ขยับเข้าใกล้พอสมควรแล้ว

ความเสี่ยงแรก คือการที่บรรดาบริษัทจัดอันดับต่างประเทศ จะมองว่า เม็ดเงินที่กู้ไปนั้น มันมีความจำเป็นเร่งด่วนเหมือนที่รัฐบาลมองหรือไม่ ควรกู้ไปใช้จ่ายในช่วงนี้ หรือ ควรไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เสี่ยงถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ รัฐบาลตั้งไว้จีดีพีเติบโตอย่างต่ำปีละ 5% เพื่อให้กดสัดส่วนให้หนี้สาธารณะต่ำลง ไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งมาถึงจุดนี้ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า จะทำได้หรือไม่

ความเสี่ยงที่ 2 คือการที่หนี้สาธารณะเข้าใกล้เพดานมากขึ้น ในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยมาซักระยะแล้ว รัฐบาลจึงมองหาแหล่งเงินจากหลายช่องทางตามที่เป็นข่าว แต่ล่าสุดการจะออก พรบ.กู้เงิน ก็ชัดเจนแล้วว่าเงินก้อนนี้ จะถือเป็นหนี้สาธารณะแน่นอน หากในอนาคตเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นคล้ายกับโควิด19 พื้นที่การคลังจะเหลือน้อยมาก

“คราวที่แล้วที่เรากู้เงินมาแจก ตอนนั้นเหตุผลฟังขึ้น เพราะทั้งโลกเขาก็ทำกัน ภายใต้การระบาดของโควิด19 แต่ตอนนี้เราก็ออกจากโควิดแล้ว แม้เศรษฐกิจไทยเราจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศ แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้ ยังคงถกเถียงจนถึงปัจจุบันว่า เหมาะสมหรือไม่?”

ความเสี่ยงที่ 3 คือการกระตุ้นด้วยการแจกเงินนั้น ตามหลักแล้วจะเป็นการกระตุ้นได้เป็นครั้งคราว ต้องมีนโยบายอื่นมาด้วย ถ้ารัฐบาลระบุว่า เป็นเพียงแผน Quick Win ของปีหน้า แล้วทำควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ด้วยก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร

เพียงแต่ว่า รัฐบาลต้องเร่งทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่น ๆ เข้ามาพยุงภาวะเศรษฐกิจไทยให้เติบโตระยะยาวได้ด้วย ถ้าพึ่งเพียงแค่ดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ก็อาจทำให้จีดีพีโต 5% ได้แค่ปีเดียว ปีถัดไปคงยาก เพราะรัฐฯ ไม่สามารถอัดฉีดเม็ดเงินได้ทุกปี

“ผมมองว่าระยะยาว การเพิ่มรายได้เกษตรกร ลดหนี้ ยังคงจำเป็น รวมถึงดึงการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ มาได้ ก็จะเป็นนิมิตรหมายที่ดี ซึ่งการที่ท่านนายกฯ เดินทางไปหลายประเทศเชื่อว่าจะเห็นผลให้ทันหลังจากสิ้นสุดดิจิทัลวอลเล็ต”

ความเสี่ยงที่ 4 คือเรื่องของต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะดอกเบี้ยในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น อาจทำให้ภาระทางการคลังของรัฐเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ก็ต้องติดตามว่าแหล่งเงินที่รัฐจะจัดหามาจะได้รับผลกระทบหรือไม่

และความเสี่ยงที่ 5 จะเกิดขึ้นในกรณีที่จะออกพันธบัตรรัฐบาล แม้จะเชื่อว่าไทยยังสามารถทำได้ เพราะมีความน่าเชื่อถือ แต่ความเชื่อมั่นนั้นปรับเปลี่ยนได้เสมอ ต้องสื่อสารชัดเจน ตรงจุด เพื่อดึงความเชื่อมั่นนักลงทุน มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อตลาดทุนไทย

“อังกฤษก็เคยดำเนินนโยบายลดภาษี และเพิ่มภาระการคลังของรัฐบาล ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งเกือบ 100% ของจีดีพี รายได้รัฐบาลหายไป 50 ล้านปอนด์ต่อปี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน เทขายทั้งค่าเงินและพันธบัตร ไทยอาจจะยังไม่ถึงจุดนั้น แต่สามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้”

ทั้งนี้ ในทุกความเสี่ยงที่กล่าวมาเป็นเพียงฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นได้ สิ่งแรกที่ต้องลุ้นกันคือ พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะผ่านสภาไปได้ด้วยดีหรือไม่ ถ้าหากผ่านแล้ว จะจัดหาแหล่งเงินด้วยวิธีใด ต้องชัดเจน และรวดเร็ว รวมถึงต้องมีการบริหารที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปมา ตลาดทุนไทยก็ผันผวนไปด้วย ชัดเจนที่สุดคือการที่มาร์เก็ตแคปในตลาดหลักทรัพย์ร่วงลง และยังไม่ปรับตัวขึ้น ก็อาจเป็นเพราะความไม่ชัดเจนนี้ก็เป็นได้