แจกเงินดิจิทัล 10000-เศรษฐกิจโลกดันจีดีพีอุตสาหกรรมปี 67 โต 2-3%

13 พ.ย. 2566 | 18:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 18:10 น.

แจกเงินดิจิทัล 10000-เศรษฐกิจโลกดันจีดีพีอุตสาหกรรมปี 67 โต 2-3% พร้อมมีผลจากการตรึงราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร วีซ่าฟรีหนุนการท่องเที่ยว ด้านเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ชี้เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 1-1.7%

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเปิดงาน OIC FORUM 2566 ครั้งที่ 15 “MIND : Set For Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน ว่า ประเมินภาคอุตสาหกรรมปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว คาดดัชนีผลผลิตอุตสาหหกรรม หรือเอ็มพีไอ (MPI) 

และผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี (GDP)ภาคอุตสาหกรรม จะเติบโตระดับ 2-3% เนื่องจากในประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ คือ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และผลจากการตรึงราคาพลังงาน พักหนี้เกษตรกร วีซ่าฟรีหนุนการท่องเที่ยว 

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของไทยทยอยฟื้นตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับ 

นอกจากนี้การลงทุนในประเทศยังมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเอกชน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ 

แจกเงินดิจิทัล 10000-เศรษฐกิจโลกดันจีดีพีอุตสาหกรรมปี 67 โต 2-3%

ด้านอัตราการเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 1-1.7%
 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ การแข่งขันในภูมิภาคและสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั่วโลก และความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยารักษาโรค อุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นต้น 

แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ตลอดจนภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ที่เป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ของคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งจะมีการผลักดันเรื่องการพักหนี้ให้กับผู้ประกอบการ SME ตามนโยบายรัฐบาล 

โดยหาแนวทางการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การพักเงินต้น การพักดอกเบี้ย โดยไม่สร้างปัญหา Moral Hazard หรือการจงใจผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ขณะที่ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ภาคเกษตรและส่งผลต่อเนื่องมายังวัตถุดิบที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที