“สุริยะ” สั่งปิดช่องโหว่ทุจริต ยุติปัญหาส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก

13 พ.ย. 2566 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2566 | 13:40 น.

“สุริยะ” สั่งการบ้าน 3 หน่วยงาน เร่งปราบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน-ส่วยสติกเกอร์ จ่อดึงใช้เทคโนโลยีดิจิทัลติดตรวจสอบ ปิดช่องโหว่ทุจริตคอร์รัปชัน เปิดสถิติจับกุมปี 66 ทางหลวงจับกุมกว่า 3.4 พันคัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ทางหลวงของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ได้เน้นย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

 

 “ตนไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้ติดตามเรื่องส่วยสติกเกอร์มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ ทล. รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ฯลฯ ทำงานเชิงรุก หมั่นตรวจตรากวดขัน และบังคับใช้กฎหมายในเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการทุจริต อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดินหรือมีสภาพทรุดทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มาดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนด้วย”

 

 นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่แอบหลีกเลี่ยงเข้าไปใช้เส้นทางในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นผิวจราจร หรือโครงสร้างของทางพิเศษ นอกจากนี้ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะมีความแม่นยำและช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย

สำหรับสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า จากการรายงานของ ทล. ในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและการจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566) สามารถจับกุมได้ 3,416 คัน

 

ในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน 2566) จับกุมได้ 394 คัน ขณะที่ ทช. ได้ดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สถานีฯ และจัดหน่วย Spot Check ตามสายทาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 รวม 8 คัน

 

ขณะเดียวกันกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รวบรวมข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจาก ทล. และ ทช. ในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีการดัดแปลงหรือต่อเติมตัวรถ โดยได้นำข้อมูลรถบรรทุกดังกล่าว แจ้งต่อ นายทะเบียนตามเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อแจ้งผู้ประกอบการขนส่งให้นำรถเข้าตรวจสภาพ โดยจะตรวจสอบว่า มีการดัดแปลงหรือต่อเติม แก้ไขตัวรถ หรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ หรือผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

 

ส่วนแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืนนั้น ทล. ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์ควบคุมเครือข่ายส่วนกลาง สามารถส่งข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ และมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง

 

นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับ ขบ. ในเรื่องของระบบ GPS เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน จากนั้นส่งข้อมูลการต่อเติมรถบรรทุกให้ ขบ. ดำเนินการตามกฎหมาย
 

ทั้งนี้ ทล. ยังขอความร่วมมือภาคเอกชนและผู้ประกอบการรถบรรทุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต 

 

นอกจากนี้ต้องนำเทคโนโลยีระบบชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) มาใช้ให้เพียงพอกับการปฏิบัติงาน และการนำกล้องตรวจการณ์มาใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะแก่เจ้าหน้าที่ อาทิ เบี้ยเลี้ยง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและลดปัญหาการทุจริต

 

ขณะที่ ทช. ได้จัดทำหลักสูตรอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับน้ำหนักบรรทุกตาม พ.ร.บ. ทางหลวง พ.ศ. 2535 ให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่รถบรรทุกกับเจ้าหน้าที่และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ระบบ WIM ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

 

ด้าน ขบ. โดยกองตรวจการขนส่งทางบกได้ออกตรวจสอบรถที่ผิดกฎหมาย โดยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะออกตรวจสอบทุกวัน สำหรับสำนักงานขนส่งจังหวัดจะออกตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องชั่งแบบ WIM และเครื่องชั่ง Static สำหรับให้รถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักและบันทึกข้อมูลน้ำหนักรถเข้าสู่ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ (GCS) ขาออก ก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า เพื่อให้พนักงานขับรถทราบถึงน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า
 
อย่างไรก็ตามขบ.ยังได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัดด้วย