“คมนาคม” ถก ทางหลวง สั่งติดตั้งกล้องตามเจ้าหน้าที่ สกัดทุจริตส่วยรถบรรทุก

09 มิ.ย. 2566 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 15:20 น.

“คมนาคม” ถกทางหลวง-ทางหลวงชนบท สั่งติดตั้งกล้องตามเจ้าหน้าที่ หวังแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ทุจริตส่วยรถบรรทุก เร่งหาคนทำผิด เตรียมรายงานคณะกรรมการภายในวันที่ 20 มิ.ย.นี้

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เปิดเผยในการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงครั้งที่ 2/2566 กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ว่า เบื้องต้นคณะกรรมการฯ ได้รายงานผลที่พาสื่อมวลชนลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักอยุธยา (ขาเข้า) ทางหลวงหมายเลข 347 จ.พระนครศรีอยุธยา

เพื่อดูกระบวนการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินให้เข้าใจระบบทางด้านเทคนิค พร้อมยอมรับว่าระบบที่ผ่านมามีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดกระบวนการทุจริต เนื่องจากใช้บุคลากรเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการจับกุม เบื้องต้นผลการประชุมจะเน้นให้ใช้ระบบทางด้านเทคนิคระบบไอทีเข้ามามากขึ้นและลดจำนวนคน เพื่อให้ลดการทุจริตให้ได้มากที่สุด
 
ทั้งนี้ในระยะยาวเตรียมนำระบบกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ (Body Camera) มาใช้ในตรวจสอบน้ำหนัก และ ตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) ของ ทล. และ ทช. บนถนนสายรอง ซึ่งกล้องดังกล่าวจะเป็นแบบออนไลน์สามารถเชื่อมข้อมูลการตรวจจับมายังส่วนกลางแบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และลดการทุจริต เบื้องต้นได้สั่งการให้ ทล. และ ทช. ไปพิจารณาจัดทำแผนดำเนินการดังกล่าวแล้ว

นายพิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ทล. ได้ตั้งคณะทำงานมา 2 คณะ เพื่อดำเนินการหาข้อมูลบุคลากรที่กระทำความผิดร่วมกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เพื่อตรวจสอบว่ามีบุคลการเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่ โดยเรื่องนี้จะต้องรายงานคณะกรรมการในการประชุมครั้งที่ 3 วันที่ 20 มิ.ย.นี้

ในปัจจุบัน ทล. มีด่านตรวจสอบน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้มีการตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ เพื่อตรวจจับกรณีได้รับแจ้งรถบรรทุกหนักอาจจะหลบเลี่ยง หรือใช้น้ำหนักเกินตามเส้นทางสายรอง รวมทั้งมีด่านส่วนกลาง 12 หน่วย ซึ่งเป็นการหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ในการออกตรวจ ส่วน ทช. มีด่านตรวจสอบน้ำหนักจำนวน 5 ด่าน และด่านตรวจในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะสุ่มตรวจทุกสายทาง   

ส่วนกรณีบทลงโทษหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หากได้รับแจ้งเบาะแสจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน บทลงโทษตามวินัยตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยบทลงโทษร้ายแรงสุดถึงขั้นไล่ออก รองลงมาเป็นทัณฑ์บน และยังมีโทษทางอาญาและทางแพ่ง

นายจิระพงศ์ เทพพิทักษ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล. ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด โดยชุดแรกจะดูเรื่องบุคลากร หรือผู้กระทำผิด หลังจากนี้จะเชิญสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลรายชื่อข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด เพื่อนำมาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนคณะทำงานชุดที่สองจะดูเรื่องของด่านชั่งน้ำหนัก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจะขอข้อมูลระบบจีพีเอรถบรรทุกของ ขบ. เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน เบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดทำร่างการลงนามบันทึกข้อตกลกร่วมกัน (MOU) กับ ขบ. เพื่อให้ได้ข้อมูลรถบรรทุกแบบออนไลน์มากขึ้น ป้องกันการทุจริตทั้งการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด และรถบรรทุกฝ่าด่านตรวจ

ทั้งนี้เร่งดำเนินแผนจัดหากล้องติดตัวเจ้าหน้าที่มาใช้ เช่น กำหนดเรื่องคุณสมบัติกล้อง จำนวนกล้อง และงบประมาณ เบื้องต้นคาดว่าจะนำมาใช้ในด่านชั่งน้ำหนัก 97 แห่งทั่วประเทศ ด่านละ 14 ตัว และจะใช้งบเหลือจ่ายดำเนินการ สำหรับกล้องติดตัวนั้นจะช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและโอกาสของเจ้าหน้าที่ในการทำทุจริต

เนื่องจากเดิมการลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำหนักเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีถ่ายคลิปวีดีในการทำงานไว้ หากมีข้อท้วงติงจะนำใช้ดำเนินการได้ แต่การทำงานไม่ได้เป็นแบบเรียลไทม์ และบางครั้งอุปกรณ์ดังกล่าวไม่รองรับการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ในแต่ละปีจะมีงบประมาณจากการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินประมาณ 10 ล้านบาท แบ่งเป็น นำเงินเข้าหลวง 2 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 20% งบดำเนินการจับกุม 2 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 20% และเป็นของเจ้าหน้าที่ 6 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 60%