รัฐบาลออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 10,000

10 พ.ย. 2566 | 15:19 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2566 | 15:59 น.
858

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตรียมออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แจกเงินดิจิทัล 10,000 ยันโปร่งใส ดำเนินการภายใต้มาตรา 37 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฏีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

ยืนยันว่า การออก พรบ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 53 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“เรื่องของแหล่งเงินทุนในโครงการทั้งหมดนี้ เราได้พิจารณาแหล่งเงินทุนที่เป็นไปได้อย่างรอบคอบ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่การใช้ตัวเลือกใดตัวเลือกนึง เราดูถึง Hybrid option ที่ผสมผสานหลายๆแนวทางด้วย ในวันนี้ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท” 

สำหรับพ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน  ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 

และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด  ซึ่งนี่จะเป็นการทำให้เงินในระบบทั้งหมดใหญ่ขึ้นกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยยะ 

“ไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี ภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจ 5%”

ทั้งนี้ การเติมเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ดูแลประชาชน 50 ล้านคน ผู้ที่เข้าเงื่อนไขจะต้องผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป และจะต้องมีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 5 แสนบาท 

ทั้งนี้ กำหนดระยะเวลาใช้จ่าย 6 เดือนหลังจากเริ่มโครงการ และยังได้มีการขยายพื้นที่การใช้จ่ายครอบคลุมระดับอำเภอ โดยจะเริ่มใช้ในช่วงเดือนพ.ค.67

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ระดับ 62% ต่อจีดีพี ซึ่งยังมีพื้นที่ในการกู้เงินอยู่ 1.3 ล้านล้านบาท จึงจะเต็มกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ฉะนั้น การออกพ.ร.บ.กู้เงินจึงมีพื้นที่เพียงพอ โดยหลังจากนี้รัฐบาลจะส่งรายละเอียดให้กฤษฎีกาตีความ และหากขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการหาแหล่งเงินกู้ทีาเหมาะสม