สคบ.ฟ้องคดีตัวอย่าง โกงซื้อกุหลาบ 5 ต้น ผ่านเฟซบุ๊ก เจอโทษคูณ 5 เท่า

25 ต.ค. 2566 | 18:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 18:59 น.
591

สคบ.ลุยฟ้องคดีตัวอย่าง หลังผู้บริโภคเจอเอาเปรียบ ซื้อกุหลาบ 5 ตัน ผ่านเฟซบุ๊ก แต่ของมาส่งไม่ตรงปก ใบเหี่ยว ปลูกไม่ได้ ขอเงินคืนเจอเมินเลยร้องสคบ. ช่วย สุดท้ายเจอฟ้องหนักเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษ คูณ 5 เท่า

วันนี้ (25 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางพวงเพ็ชร  ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) เป็นครั้งแรกของรัฐบาล โดยมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการฟ้องดำเนินคดีผู้บริโภคกว่า 20 เรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นการฟ้องคดีตัวอย่างที่ผู้บริโภคถูกโกง หลังซื้อกุหลาบ 5 ต้น ผ่านเฟซบุ๊ก ราคา 290 บาท แต่ผู้เอาเปรียบต้องถูกดำเนินคดีและถูกโทษปรับหนักถึง 5 เท่า

สำหรับคดีนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภค หลังจากได้ไปสั่งซื้อต้นกุหลาบ 5 ต้น (รวมค่าจัดส่ง) ราคา 290 บาท จากผู้ขายรายหนึ่งผ่านเฟซบุ๊ก แบบเรียกเก็บเงินปลายทาง เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าโดยบริษัทขนส่งรายหนึ่ง ผู้บริโภคจึงชำระเงินให้แก่พนักงานผู้ขนส่ง

หลังจากนั้นผู้บริโภคพบว่าสินค้าที่ได้รับไม่ตรงตามโฆษณาไว้ เนื่องจากกุหลาบเหี่ยวแห้งไม่มีใบ ทำให้ไม่สามารถปลูกได้ 

 

นางพวงเพ็ชร  ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.)

จึงมีความประสงค์ขอเงินทั้งหมดคืน พร้อมค่าเสียหาย จำนวน 1,000 บาท จึงขอความเป็นธรรมกับ สคบ. ซึ่งจากการพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ พบว่า พฤติการณ์ที่ผู้ขายแสดงออกผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นการแสดงออกว่าเป็นผู้มีอาชีพขายต้นกุหลาบ แก่บุคคลทั่วไปจึงถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และผู้บริโภคมีติดต่อผู้ขายผ่านเฟซบุ๊กฯ เพื่อขอให้คืนเงินทั้งหมดแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ถือเป็นพฤติการณ์ที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม 

ดังนั้นมติที่ประชุม คคบ. จึงเห็นควรดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อบังคับให้คืนเงิน จำนวน 290 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจ จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 

โดยกำหนดบทลงโทษว่า หากค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกิน 5 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดด้วย และจะได้ค่าเสียหายจากมูลค่าสินค้าเดิมพร้อมดอกเบี้ยด้วย

 

นางพวงเพ็ชร  ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า กรณีที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเป็นมูลค่าความเสียหายที่ฟ้องร้องเรียกแค่หลักร้อยบาท แต่ผู้บริโภคก็สามารถจะเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษได้เพิ่มอีก 5 เท่า และกรณีนี้จะเป็นตัวอย่างให้ผู้บริโภครายอื่น ๆ สามารถมาฟ้องร้องได้ เพราะปัจจุบันการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทุกวัน

“กรณีนี้จะเป็นตัวอย่าง และเป็นการป้องปรามผู้ขายที่จงใจเอาเปรียบผู้บริโภค แม้ว่ามูลค่าความเสียหายจะมีแค่นิดเดียวแต่ก็เรียกค่าเสียหายเพิ่มได้ถึง 5 เท่า เพราะตอนนี้การซื้อสินค้าออนไลน์โตอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ถูกหลอกลวง และถูกเอาเปรียบจำนวนมาก โดยมีหลายรายไม่เข้ามาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และทำให้เกิดการเอาเปรียบอยู่อย่างนี้ และก็เป็นเรื่องดีที่ สคบ. หยิบเอาแนวทางการเรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษมาใช้เป็นเป็นแบบอย่างในคดีต่อ ๆ ไปด้วย” แหล่งข่าว ระบุ