ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ต้องทำอย่างไร อ่านเลย!

28 พ.ค. 2566 | 19:34 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ค. 2566 | 19:42 น.
510

สคบ.แนะแนวทางดำเนินการหากซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง ต้องทำอย่างไรบ้าง อ่านรายละเอียดเลย ชี้กรณีหลอกลวงผู้อื่น ตามกฎหมายโดนปรับสูงสุดถึง 1 แสนบาท

หลายคำเตือนว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ต้องศึกษาข้อมูลสินค้าให้ดีก่อนซื้อ ตรวจเช็คร้านค้าว่ามีการจดทะเบียนกับหน่วยงานรัฐหรือเปล่า เครดิตร้านค้าที่จะซื้อเป็นอย่างไร มีความน่าเชื่อถือพอที่จะทำการซื้อสินค้าหรือไม่

 

อย่างไรก็ดี หลายครั้งหลายคนก็ยังเจอร้านค้าหรือคนขายที่มีเจตนาที่ไม่สุจริต หลอกโอนเงินหรือหลอกให้จ่ายเงินปลายทางแล้วได้สินค้าที่มีตำหนิบ้าง ของปลอมหรือของไม่ตรงปกมาแทน หนักสุดบางร้านหนีหายไม่ส่งของมาให้ก็มี

 

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วไม่สามารถติดต่อร้านค้าไกล่เกลี่ยกันได้ เราจะต้องดำเนินการอย่างไร ต้องเตรียมหลักฐานอะไรบ้างเพื่อนำไปแจ้งความดำเนินคดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แนะนำแนวทางการดำเนินการ ได้แก่

  • ให้รวบรวมหน้าโปรไฟล์ของร้านค้าลิงก์ URL ของเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่โพสต์ประกาศขายสินค้านั้น
  • พร้อมบันทึกการสนทนา หรือข้อความที่คุยรายละเอียดในการซื้อของออนไลน์ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรและเลขบัญชีของร้านค้า
  • หลักฐานการโอนเงิน สลิปโอนเงิน ใบนำฝากที่เราจ่ายค่าสินค้าไป
  • สำเนาบัตรประชาชนและสมุดบัญชีธนาคารของเรา เพื่อแจ้งดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ของเรา

หลังจากที่เราเข้าแจ้งความแล้ว ให้เรารอตำรวจดำเนินการและรอการติดต่อกลับ พนักงานสอบสวนจะส่งเลขบัญชีให้ธนาคารตรวจสอบ ว่าเจ้าของบัญชีเป็นใคร ตัวจริงไหม มีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางบัญชีต่างๆ จากนั้นจะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ถ้ามาแล้วตกลงกันได้ก็จะไกล่เกลี่ยคืนเงินกัน ถ้ามาแล้วตกลงกันไม่ได้ ตำรวจจะส่งสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาล

อย่างไรก็ดี หากเราจะดำเนินการเองก็สามารถทำได้ โดยนำใบแจ้งความไปดำเนินการเองที่ธนาคาร วิธีนี้เป็นการช่วยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทางหนึ่ง หรือให้เรื่องที่เราแจ้งความไปดำเนินเรื่องเร็วขึ้น คือการนำใบแจ้งความที่เราขอเจ้าหน้าที่ถ่ายเอกสารมา ไปยื่นที่ชื่อธนาคารที่เราโอนเงินไปให้ ซึ่งจะมีลำดับการเดินเรื่องดังนี้

  • ไปที่ธนาคารที่เราโอนเงิน จะเป็นสาขาใดก็ได้ ยื่นใบแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ กรอกเอกสารตามเจ้าหน้าที่แนะนำ
  • พร้อมระบุว่าต้องการได้เงินคืน เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและจะแจ้งให้ทราบ หลังจากตรวจสอบแล้ว บัญชีของผู้โกงจะถูกอายัดไว้ ใช้งานไม่ได้ เมื่อผู้โกงทำธุรกรรมการเงินไม่ได้ ก็จะติดต่อมาเพื่อไกล่เกลี่ยคืนเงิน
  • หากผู้โกงไม่ได้ติดต่อมาก็จะดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ผู้ขายมีความผิดใน "ฉ้อโกง" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ การทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความที่เป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือปรับไม่เกิน ๖,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีอายุความ ๓ เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด

ดังนั้นหากรู้ตัวว่าถูกโกง ให้รีบแจ้งความภายใน ๓ เดือน และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ ที่เกี่ยวกับการนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทด้วย โดยมีอายุความ ๑๐ ปี