“นิตินัย” ชำแหละ แจกเงินดิจิทัล ต้นทุนการเงินบาน คุ้มหรือเสี่ยง

25 ต.ค. 2566 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 14:39 น.

“นิตินัย ศิริสมรรถการ” ชำแหละ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ตั้งแง่การระดมเงินกู้ใช้ในโครงการ เสี่ยงต้นทุนทางการเงินแพง รัฐบาลต้องอธิบายจ่ายแพงไปเพื่อให้ได้ประโยชน์อะไรบ้าง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล ผ่านเฟซบุ๊ก นิตินัย ศิริสมรรถการ โดยระบุว่า ขออนุญาตใช้พื้นที่นี้ออกความเห็นในฐานะอดีตข้าราชการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับ Digital Wallet ว่าด้วยนโยบายกึ่งการคลัง 

หลังจากเห็นยกประเด็นการให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ในโครงการ Digital Wallet กันมาก โดยบอกกันว่า อันนี้เป็นนโยบายกึ่งการคลัง จึงมีความเห็นดังนี้ 

1.นโยบายกึ่งการคลัง ชื่อก็บอกแล้วว่าไม่ใช่นโยบายการคลัง พูดโดยย่อคือ เป็นการทำนโยบายให้เกิดผลทางการคลัง แต่ไม่ลงในบัญชีการคลังภาคสาธารณะ เช่น การที่รัฐบาลสั่งให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ให้ประชาชนซื้อบ้าน ตรงนี้ประชาชนคนกู้เป็นผู้ชำระหนี้ ไม่ใช่รัฐบาลเป็นผู้ชำระหนี้ พอรัฐบาลไม่ต้องชำระหนี้ ก็ไม่เป็นภาระทางการคลัง

2. กรณี Digital Wallet หากท้ายสุดแล้ว เงินนี้จะถูกดูดออกจากระบบ (เงินนี้จะหมดอายุใน 6 เดือน) รัฐบาลต้องเข้าไปรับผิดชอบการดูดเงินดังกล่าวออก ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง (มีหลายทาง แต่ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด ณ ที่นี้)  ซึ่งไม่ว่าทางไหน สุดท้ายก็เป็นภาระทางการคลังอยู่ดี

นั่นหมายความว่า ไม่ว่าจะให้ธนาคารรัฐไหนดำเนินนโยบายนี้ ภาระจากโครงการก็จะเป็นภาระทางการคลัง (นับในหนี้สาธารณะ) ซึ่งจะเรียกว่านโยบายกึ่งการคลังไม่ได้ (เราจะเลี่ยงไม่รับรู้ภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นไม่ได้)

3. เมื่อสุดท้าย จะกลับมาเป็นภาระทางการคลัง โดยหลักการเราก็ต้องเลือกทางเลือกที่ต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด ทางเลือกอื่น นอกเหนือจากรัฐบาลกู้ตรง ควรเป็นทางเลือกที่ต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า (ทางเลือกไหนที่ต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าการที่รัฐบาลกู้ตรงบ้าง?) ถ้าสูงกว่า ก็ต้องมีคำตอบว่า ที่เราต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มนั้น เพื่อประโยชน์อันใด

4. ตัวอย่างประโยชน์ในการระดมเงินกู้จากทางอื่น เช่น ให้ธนาคารออมสิน เป็นกลไกในการดำเนินโครงการนี้ไปก่อน และรัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชย ตอนจะดูดเงินดิจิทัลนี้ออกจากระบบในอีก 6 เดือนข้างหน้า ประโยชน์ตามตัวอย่างนี้คือ รัฐบาลต้องใช้ธนาคารออมสินเป็น arm ในการดำเนินงาน? หรือ เป็นการชะลอการจ่ายงบประมาณไปเป็นปีงบประมาณหน้า? ซึ่งตรงนี้จะคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินที่แพงขึ้นหรือไม่ ก็ว่ากันไป 

กล่าวคือไม่ได้หมายความว่า จะใช้ช่องทางอื่นที่ต้นทุนแพงกว่าไม่ได้ แต่ในมุมกลับกัน ก็ต้องตอบด้วยว่า จะจ่ายแพงไปเพื่อให้ได้ประโยชน์ในประเด็นใดครับ