ครั้งแรก! รัฐทำคลอดกฎหมายคุ้มครอง แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ

23 ต.ค. 2566 | 06:51 น.
2.3 k

กระทรวงแรงงาน ยกร่างกฎหมาย คุ้มครอง แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ เล็งขึ้นทะเบียนได้สิทธิประโยชน์เกือบเทียบเท่าประกันสังคม เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ลุ้นคลอดออกมาช่วยคนไทยมีหลักประกันการทำงาน

ปัจจุบัน “แรงงานนอกระบบ” หรือ "แรงงานอิสระ" กำลังเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หลังเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ทำให้รูปแบบการดำเนินงานเศรษฐกิจมีการปรับตัว จนเกิดรูปแบบการจ้างแรงงานแบบใหม่ การเหมาช่วง ส่งผลให้แรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเกินครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ 

ทั้งที่แรงงานนอกระบบเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ เป็นผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่ม รวมตัวในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า จำนวนประชากรรวมของประเทศไทย 66.09 ล้านคน มีจำนวนผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน จำแนกออกเป็นแรงงานในระบบ 19.4 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคน คิดเป็น 51% ของผู้มีงานทำทั้งหมด 

อีกทั้งยังพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบไว้อย่างชัดเจน ทำให้แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน หรือการประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม รวมถึงการรวมกลุ่ม รวมตัวได้

 

ครั้งแรก! รัฐทำคลอดกฎหมายคุ้มครอง แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ

ดังนั้น เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริมและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงแรงงานจึงจำเป็นต้องเสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... พร้อมกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นภายใต้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อเป็นทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้เป็นไปตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 9) ได้พิจารณาปรับปรุงเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแก้ไขชื่อพระราชบัญญัติจาก “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. ....” 

ครอบคลุมสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ และสอดคล้องกับการแก้ไขถ้อยคำ “แรงงานนอกระบบ” เป็น “แรงงานอิสระ” เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะหรือสภาพการทำงานของแรงงานตามร่างพระราชบัญญัตินี้ที่มีอิสระในการทำงาน ล่าสุดกระทรวงแรงงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มีส่วนได้เสียของทุกภาคส่วนแล้ว และจะสรุปรายละเอียดก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

 

ครั้งแรก! รัฐทำคลอดกฎหมายคุ้มครอง แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ

สาระสำคัญของกฎหมาย แรงงานอิสระ

สำหรับสาระสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... สรุปรายละเอียดได้ดังนี้

การกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระตามหลักเกณฑ์ที่ปลัดกระทรวงกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการขึ้นทะเบียนแรงงานอิสระตามวรรคหนึ่ง ให้จัดขึ้นทะเบียนเป็นสองประเภท คือ

  1. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
  2. ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ

โดยให้สำนักงานหรือสำนักงานแรงงานจังหวัด แล้วแต่กรณี ดำเนินการรวบรวมข้อมูล และสำรวจความต้องการของแรงงานอิสระ โดยให้สำนักงานรวบรวมข้อมูลและประมวลผลสำรวจดังกล่าว และจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระต่อไป และสำรวจความต้องการของแรงงานอิสระให้ถูกต้องตามมาตรฐานสถิติ

พร้อมกำหนดรายละเอียดของ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง ดังต่อไปนี้

  • ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 
  • ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย 
  • ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ
  • ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
  • ผู้ผลิตเนื้อหาเรื่องใดที่ไม่ใช่การโฆษณาเพื่อเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือบริการอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน
  • ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระตามที่มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพนั้น
  • ผู้ประกอบอาชีพอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ส่วน ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ ได้แก่ ผู้ประกอบอาชีพ ดังต่อไปนี้

  • รับจ้างหรือให้บริการขนส่งคนโดยสาร สิ่งของ หรืออาหาร ทำความสะอาด หรือบริการอื่น ๆ ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล
  • รับจ้างหรือให้บริการตาม ข้อ 1 ซึ่งยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการตามที่ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกำหนดไว้โดยได้รับค่าตอบแทนผ่านผู้ประกอบธุรกิจนั้น

ตามมาตรา 25 ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งได้ขึ้นทะเบียนมีสิทธิได้รับการส่งเสริม ดังต่อไปนี้

  • การพัฒนาทักษะฝีมือและการศึกษาให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงานของประเทศที่มีลักษณะหมุนเวียนระหว่างแรงงานในระบบกับแรงงานอิสระ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มสมรรถนะและผลิตภาพแรงงาน
  • การสร้างโอกาสในการมีงานทำและมีความมั่นคงในการทำงาน
  • การปรึกษาหรือการบริการอื่นใดเกี่ยวกับการทำงานหรือการประกอบอาชีพ
  • ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
  • การเข้าถึงหลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม
  • การรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายผู้ประกอบอาชีพอิสระ

 

ครั้งแรก! รัฐทำคลอดกฎหมายคุ้มครอง แรงงานอิสระ แรงงานนอกระบบ


ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์อื่น ดังต่อไปนี้

  • การกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือใช้ในการดำรงชีพ
  • การจัดให้มีประกันภัย
  • การคุ้มครองสุขภาพ
  • สิทธิประโยชน์อื่นตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด 

โดยการได้รับสิทธิประโยชน์ให้พิจารณาจากจำนวนเงินและทรัพย์สินของกองทุนและจำนวนเงินค่าสมาชิกที่ส่งเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด

ส่วนผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระซึ่งได้ขึ้นทะเบียน นอกจากมีสิทธิได้รับการส่งเสริมตามมาตรา 25 แล้ว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์อื่น ดังต่อไปนี้

  • ความคุ้มครองเกี่ยวกับข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  • การเยียวยาจากกองทุนในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่จ่ายค่าตอบแทนหรือค่าตอบแทนพิเศษภายในระยะเวลาที่กำหนด
  • การร้องขอให้ผู้ประกอบธุรกิจออกใบสำคัญรับรองการทำงาน
  • การกู้ยืมเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพหรือใช้ในการดำรงชีพ

ส่วนการจัดให้มีประกันภัยอุบัติเหตุในการประกอบอาชีพที่มีข้อตกลงคุ้มครองตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อตกลงคุ้มครอง ดังต่อไปนี้

  1. ค่าชดเชยจากการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรเนื่องจากอุบัติเหตุ
  2. ผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุ
  3. ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

เช่นเดียวกับ การคุ้มครองสุขภาพหรือประกันภัยเสริมเพิ่มเติมจากประกันภัยอุบัติเหตุในการประกอบอาชีพ และการช่วยเหลือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการดำเนินคดี

เช็ครายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. .... ที่นี่