เปิดรับฟังความคิดเห็น “พ.ร.ก.กู้เงินโควิด” ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย

21 ต.ค. 2566 | 13:52 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 13:52 น.

สบน.เปิดรับฟังความคิดเห็น “พ.ร.ก.กู้เงินโควิด” ถึง 31 ต.ค.66ประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมายที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกำหนด

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานว่า สบน. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายเห็นสมควรประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวบรรลุเป้าหมายในการมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น

รวมทั้งการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศ การลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันของกฎหมาย การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ซึ่งในการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 สบน. จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ตลอดจนต้องกระทำตามแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งจะต้องมีประกาศการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลประกอบการรับฟังความคิดเห็น

ทั้งนี้ จึงขอประชาสัมพันธ์การแสดงความคิดเห็น “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน COVID-19 เพิ่มเติมฯ พ.ศ. 2564” ตามพระราชบัญญัติการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ ซึ่งในการประเมินไม่มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2566

ขณะที่สาระสำคัญของกฎหมาย/สภาพปัญหาและความจำเป็นของการมีกฎหมายฉบับนี้

1) วัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ)     

พระราชกำหนดฯ มีวัตถุประสงค์ในการตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งยังไม่ยุติลง เนื่องจาก COVID-19 ยังคงมีการระบาดอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักและเป็นวงกว้างอันเป็นวิกฤตสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วนและต่อเนื่องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่

อีกทั้งกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ประกอบกับกลไกของกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะไม่สามารถรองรับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ตราพระราชกำหนดฯ ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

2) มาตรการสำคัญของกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา สรุปได้ดังนี้

2.1) การกู้เงินของกระทรวงการคลังและการใช้จ่ายเงินกู้ โดยได้มีการกำหนดให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

โดยให้กระทรวงการคลังลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ ภายในกำหนดเวลาไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2565  โดยนำไปใช้จ่ายภายใต้แผนงานหรือโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพื่อการดังต่อไปนี้

  • เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19
  • เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19
  • เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19

ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้นำวงเงินกู้ที่กำหนดไว้ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพื่อการตาม (1) (2) (3) ก็ได้ แต่รวมวงเงินกู้ทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

2.2) การบริหารและจัดการการกู้เงินและการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำหนดให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารและจัดการการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ และการอื่นใดที่เกี่ยวกับการกู้เงิน และให้นำกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

2.3) การกลั่นกรองแผนงานหรือโครงการใช้จ่ายเงินกู้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คณะกรรมการกลั่นกรองฯ) ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. กู้เงิน 2563) ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง และอนุมัติการใช้จ่ายเงินกู้ ประกอบด้วย

  • เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน
  • ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปลัดกระทรวงการคลัง
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
  • ผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 3 คน เป็นกรรมการ
  • รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ
  • ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นเลขานุการร่วม

โดยมีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณากลั่นกรองแผนงานหรือโครงการ กำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้และรายงานความก้าวหน้าต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดวงเงินสำหรับรายการเงินสำรองจ่าย เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อวางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และปฏิบัติการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

2.4) การดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการ และการรายงานผลการใช้จ่ายเงินกู้ การดำเนินการตามแผนหรือโครงการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่นายกรัฐมนตรีกำหนด โดยข้อเสนอของคณะกรรมการฯ และกำหนดให้รายงานการกู้เงินต่อรัฐสภาเพื่อทราบภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

2.5) บัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดฯ กำหนดแผนงานหรือโครงการ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินงาน และวงเงินที่ใช้ในการดำเนินงาน จำนวน 3 แผนงาน

แผนงานกลุ่มที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท

แผนงานกลุ่มที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท

แผนงานกลุ่มที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท