ครบรอบ 10 ปี BRI : สี จิ้นผิง คิดการใหญ่อะไร?

18 ต.ค. 2566 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 12:39 น.
580

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน เขียนบทความเรื่อง ครบรอบ 10 ปี BRI : จีนคิดการใหญ่อะไร โดยสรุป สี จิ้นผิง ไม่ได้แค่หวังผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงเพื่อรับมือกับสหรัฐด้วย

“ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI)  กลายเป็น Talk of the World  เป็นการผลักดันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงมาตั้งแต่ปี 2013 ด้วยการปลุกฟื้นคืนชีพเส้นทางสายไหม โดยใช้คำว่า Silk Road Economic Belt และคำว่า Maritime Silk Road in the 21st Century เพื่อแสวงหาความร่วมมือสร้างพันธมิตรกับประเทศต่าง ๆ

สี จิ้นผิง ยังได้นำประเด็น BRI ใส่ไว้ใน “ธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน” มาตั้งแต่ปี 2017 สะท้อนว่า แผนริเริ่ม BRI คือ a must ที่จีนต้องทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

มาจนถึงวันนี้ ครบรอบ 10 ปี แผนริเริ่ม BRI ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ใหม่แห่งทศวรรษ จีนได้ลงนามความร่วมมือด้าน BRI กับประเทศต่าง ๆ มากกว่า 150 ประเทศ ในภูมิภาค 5 ทวีป และลงนามกับ 30 กว่าองค์กรระหว่างประเทศ สี จิ้นผิง ขยายอิทธิพลของจีนผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ BRI จนสามารถสร้างสมการของอำนาจใหม่ขึ้นมาในโลก

เศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum ตามคำเชิญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

ครบรอบหนึ่งทศวรรษของ BRI มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างผลประโยชน์เบื้องหลังของจีน ในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI มีอะไรบ้าง สี จิ้นผิง คิดการใหญ่อะไร รวมทั้งข้อกังวลของฝ่ายต่าง ๆ ที่มีต่อข้อริเริ่ม BRI มีอะไรบ้าง บทความนี้จะมาวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก :  ยุทธศาสตร์ BRI สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หากศึกษาข้อมูลจากเอกสารทางการจีน คือ สมุดปกขาวเรื่อง "The Belt and Road Initiative: A Key Pillar of the Global Community of Shared Future" (เผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา) ซึ่งรายงานผลดำเนินการภายใต้ BRI ในรอบหนึ่งทศวรรษ สรุปได้ดังนี้

ในช่วง 10 ปี จีนได้สร้างความร่วมมือมากกว่า 3,000 โครงการภายใต้ BRI รวมมูลค่าลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เช่น โครงการรถไฟในประเทศลาวที่เชื่อมโยงไปจนถึงจีนตอนใต้ โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย (จากกรุงจาการ์ต้าไปเมืองบันดุง) โครงการท่าเรือสำคัญในประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ในจำนวนนี้ มีมากกว่า 50 โครงการที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความร่วมมือด้านการพัฒนาสีเขียว (green development) ที่จีนลงนามกับ 31 ประเทศ

ครบรอบ 10 ปี BRI  :  สี จิ้นผิง คิดการใหญ่อะไร?

ที่โดดเด่นมาก คือ การออกไปลงทุนในต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จีนกลายเป็นผู้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ข้อมูลในปี 2022 ตัวเลข outward FDI ของจีนในประเทศ BRI มีมูลค่าสูงถึง 57,130 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด ตัวเลขในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการออกไปลงทุนในต่างประเทศของจีนก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องประมาณร้อยละ 18.1 หากคิดเฉพาะการลงทุนจีนในประเทศ BRI มีสัดส่วนร้อยละ 19 และข้อมูลในเอกสารสมุดปกขาว ฝ่ายจีนยังได้รายงานว่า ในรอบ 10 ปี จีนสร้างงานในต่างประเทศมากถึง 421,000 อัตรา

ในเชิงภูมิศาสตร์ ความร่วมมือภายใต้ BRI แบ่งออกเป็น 6 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญ ดังนี้

(1) ระเบียงเศรษฐกิจแลนด์บริดจ์ยูเรเชียใหม่ (New Eurasian Land Bridge Economic Corridor) เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากจีน ผ่านเอเชียกลาง ประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส ไปจนถึงโปแลนด์ และเชื่อมต่อไปอีกหลายประเทศยุโรป เช่น เยอรมัน สเปน

(2) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลาง-เอเชียตะวันตก (China-Central and West Asia Economic Corridor : CCWAEC) เริ่มต้นจากซินเจียงในจีน ผ่านเอเชียกลาง ไปยังอ่าวเปอร์เซีย ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และคาบสมุทรอาหรับ เช่น อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย ไปจนถึงตุรกี

(3) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) มีจุดเริ่มต้นที่เมืองคาสือ (คัชการ์) ของซินเจียงในจีน ไปสิ้นสุดที่ท่าเรือกวาดาร์ในปากีสถาน

(4)ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย (China-Mongolia-Russia Economic Corridor: CMREC) เชื่อมจีนตอนเหนือกับประเทศมองโกเลียและรัสเซีย

(5) ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor : BCIMEC) เพื่อเชื่อมโยงจีน ผ่านเมียนมาและอินเดียไปยังภูมิภาคเอเชียใต้

(6) ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC) ระเบียงเศรษฐกิจนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับไทยและเพื่อนบ้านในคาบสมุทรอินโดจีน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV และเป็นประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Cooperation : LMC) ที่จีนผลักดันด้วย

ประเด็นที่สอง : จีนสร้าง BRI ให้เป็นยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษได้อย่างไร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิงมีการเดินสายไปเยือนประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ แสวงหาแนวร่วม และสานต่อความร่วมมือ BRI ในด้านต่าง ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักว่า BRI ไม่ได้เป็นแค่โครงการฉาบฉวย และ BRI ก็ไม่ได้เป็นแค่ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เท่านั้น เนื่องจากกรอบ BRI จะเน้นเชื่อมโยงความร่วมมือใน 5 ด้านหลัก (Five Links) ได้แก่ ด้านประสานนโยบาย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการค้าไร้อุปสรรค ด้านการบูรณาการทางการเงิน และด้านการเชื่อมโยงประชาชน ดังนี้

(1)ด้านการประสานนโยบาย (Policy Coordination) ฝ่ายจีนจะศึกษาข้อมูลนโยบายหลักของแต่ละประเทศว่ามีอะไรบ้าง เพื่อเสนอการประสานนโยบาย / การลงนามความร่วมมือในระดับต่าง ๆ รวมไปถึงแลกเปลี่ยนเทียบเคียงในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติร่วมกับรัฐบาลของแต่ละประเทศ เช่น ในกรณีของไทย ฝ่ายจีนก็จะพยายามเชื่อมโยง BRI กับโครงการ EEC ของรัฐบาลไทย

(2) ด้านการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Facilities Connectivity) เพื่อเชื่อมโยงและลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ ทั้งระบบรางรถไฟ ท่าเรือ ถนน รวมทั้งเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ระบบเทคโนโลยี 5G รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า ระบบส่งกระแสไฟฟ้า ท่อก๊าซและน้ำมัน นอกจากนี้ จีนได้เป็นโต้โผจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย” (Asian Infrastructure Investment Bank : AIIB) จนสำเร็จในปี 2015 และการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) เพื่อเป็นกองทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมแผนริเริ่ม BRI

3) ด้านการค้าที่ไร้อุปสรรค (Unimpeded Trade) เพื่อเอื้อให้มีการขยายการค้าระหว่างประเทศที่เข้าร่วม BRI และร่วมกันสร้างระบบเครือข่าย/ยกระดับการเปิดเสรีให้มากขึ้น จากรายงานในสมุดปกขาวฯ นับตั้งแต่ปี 2013 -2022 การค้าของจีนกับประเทศในกลุ่ม BRI เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ประเทศใน BRI เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน สัดส่วนร้อยละ 32.9 ของการค้าทั้งหมดของจีนและล่าสุด ในปี 2022 จีนมีการนำเข้า/ส่งออกกับประเทศต่าง ๆ ภายใต้ BRI มูลค่ารวมทะลุ 13.83 ล้านล้านหยวน

(4)ด้านการบูรณาการทางการเงิน (Financial Integration) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินภายใต้ BRI และความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการเงิน การชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบข้ามพรมแดน ตลอดจนความร่วมมือด้านการกำกับดูแลทางการเงิน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงและภาวะวิกฤตทางการเงิน รวมทั้งการผลักดันให้มีการทำธุรกรรมระหว่างกันด้วยสกุลเงินท้องถิ่นให้มากขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ จีนจะให้การให้ความช่วยเหลือภายใต้ BRI ในรูปของเงินหยวน โดยคาดหวังว่า ในระยะยาว ประเทศเหล่านั้นจะมีการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศให้มากขึ้น

(5)ด้านการเชื่อมโยงประชาชน (People-to-people Bond) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของจีนในด้านอื่นที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ เช่น ด้านวัฒนธรรม การศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้ BRI จีนจึงได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อแจกทุน และจัดโครงการแลกเปลี่ยน / การจัดคณะทัศนศึกษาดูงานในประเทศจีนให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน สื่อมวลชน พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐบาล และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐในประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วม BRI จึงชัดเจนว่า การเชื่อมโยงด้านนี้เป็นการใช้ Soft Power ของจีนเพื่อปลูกฝังภาพลักษณ์ด้านบวกของจีนในสายตาต่างประเทศและเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในระดับประชาชน

ประเด็นที่สาม : ผลประโยชน์เบื้องหลังในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI มีหลายเหตุผลและแรงจูงใจในการริเริ่ม BRI ผลประโยชน์ที่จีนคาดหวังจากยุทธศาสตร์ BRI มีหลากหลายมิติ ดังนี้

ในแง่เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ใหญ่ BRI ช่วยจีนในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ แหล่งลงทุนใหม่ ๆ ตลอดจนการแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ และการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ไม่ใช่เพียงแค่การส่งออกสินค้าจีนเหมือนในอดีต แต่ภายใต้ BRI จีนได้มีการส่งออกเทคโนโลยีจีน และส่งออก Platform จีนไปทั่วโลก รวมไปถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับจีนที่หลากหลายและครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนและสร้างเครือข่ายการผลิตการค้าของจีนขยายไปทั่วโลก

ทั้งหมดนี้ย่อมจะช่วยติดอาวุธทางเศรษฐกิจให้จีนสามารถรับมือกับความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ BRI จึงเป็นเครื่องมือสำคัญทางนโยบายต่างประเทศของจีนและเป็นกลไกหลักในการขยายบทบาทของจีน เพื่อสร้างเครือข่ายและแสวงหาแนวร่วมในการคานอำนาจกับสหรัฐฯ

ที่สำคัญ จีนต้องการทำ financial decoupling เพื่อแยกตัวทางการเงินกับสหรัฐฯ ลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มากเกินไป ซึ่งมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ในยุคสี จิ้นผิง จีนปรับมาเน้นนำเงินไปลงทุนใน real sector ผ่านการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่จับมือกับจีนภายใต้ BRI เนื่องจากจีนมีทุนสำรองเงินตราฯ มากที่สุดในโลก ในอดีตจีนนำเงินทุนสำรองฯเหล่านี้ไปทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สี จิ้นผิงจึงต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาลงทุนในลักษณะ outward FDI ผ่านความร่วมมือ BRI หันไปเน้นการออกไปลงทุนในต่างประเทศ (มากกว่าแค่การลงทุนด้วยการทุ่มซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเหมือนในอดีต) เช่น การกว้านซื้อที่ดินหรือแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุในต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าซื้อบริษัทชื่อดังระดับโลกหลายแห่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งในการผลักดันยุทธศาสตร์ BRI ก็เพื่อแก้ปัญหาภายในของจีน เช่น เพื่อใช้ BRI เป็นช่องทางกระจายสินค้าที่จีนมีการผลิตล้นเกิน (over capacity) ตัวอย่างเช่น แผงโซลาร์เซลล์ จีนจึงต้องการแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ผ่านความร่วมมือ BRI เพื่อเร่งระบายส่งออกสินค้าที่ผลิตล้นเกินเหล่านี้

ในแง่ความมั่นคงภายในประเทศ จีนใช้ยุทธศาสตร์ BRI มาหยิบยื่นโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับดินแดนที่ยังคงมีปัญหาชนกลุ่มน้อย คือ ซินเจียง ที่ยังคงมีกลุ่มมุสลิมอุยกูร์หัวรุนแรง ด้วยการเชื่อมโยงซินเจียงกับประเทศในเอเชียกลางไปจนถึงยุโรปผ่านเส้นทางรถไฟ ไปจนถึงการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งพลังงานเข้าสู่จีนผ่านซินเจียง สี จิ้นผิงต้องการใช้ BRI เพื่อการกระจายความเจริญให้ซินเจียง หวังจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพของซินเจียงที่มีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านมากถึง 8 ประเทศ ทั้งนี้ ซินเจียงเคยเป็นชุมทางการค้าโบราณของเส้นทางสายไหมที่เคยรุ่งเรืองในยุคประวัติศาสตร์ รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรและแหล่งพลังงานที่สำคัญ ทั้งแร่หายาก (Rare Earth) น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และพลังงานลม

ประเด็นสุดท้าย : ข้อกังวลหรือความหวาดระแวงที่มีต่อแผนการใหญ่ BRI ของสี จิ้นผิงมีอะไรบ้าง

ภายใต้แผนริเริ่ม BRI จีนออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งพลังงานในหลายประเทศ จนสร้างความหวาดระแวงกับกระแสทุนจีนบุกโลก มีข้อกังขากับการที่รัฐบาลจีนนำกองทัพทุนจีนออกไปลงทุนผ่าน BRI เพื่อหวังจะให้รัฐวิสาหกิจจีน / บริษัทจีนได้ “โกอินเตอร์” เป็นการเดินเกมเชิงยุทธศาสตร์เพื่อผลประโยชน์ของจีนเองหรือไม่ มีการตั้งคำถามว่า จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทของจีน และเอื้อให้คนจีนย้ายถิ่นไปทำมาหากินในต่างประเทศ จนส่งผลกระทบกับธุรกิจท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้นที่แข่งขันสู้ทุนจีนไม่ได้ และคนท้องถิ่นในประเทศเหล่านั้นจะได้ประโยชน์จากการเข้ามาของทุนจีนอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่ผู้นำจีนเดินทางไปจับมือกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อทำโครงการภายใต้ความร่วมมือ BRI บางส่วนจีนก็ให้ความช่วยเหลือ บางส่วนรัฐบาลประเทศนั้นก็ต้องกู้จากจีนเป็นมูลค่ามหาศาล จึงถูกมองว่า เป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับรัฐบาลประเทศเหล่านั้น ทำให้มีนักวิชาการต่างชาติเริ่มตั้งคำถามว่า นี่คือ “การทูตกับดักหนี้” (Debt-trap Diplomacy) หรือไม่ จีนเร่งให้ประเทศต่าง ๆ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และจีนให้เงินกู้ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่สูง ทำให้รัฐบาลประเทศเหล่านั้นเข้าสู่วิกฤตหนี้มูลค่ามหาศาลในอนาคต เป็นต้น

โดยสรุป สีจิ้นผิงผลักดันแผนการใหญ่ BRI ไม่ได้มีเพียงแค่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือในการสร้างพันธมิตร แสวงหาแนวร่วมแบบเนียน ๆ ไม่โฉ่งฉ่าง เหตุผลเบื้องหลังที่จีนริเริ่ม BRI จึงมีทั้งแรงจูงใจทางการเมืองระหว่างประเทศและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์  จีนตระหนักดีว่า ในอนาคตการเติบใหญ่ของจีนจะต้องถูกสกัดยับยั้งและปิดล้อมโดยมหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ ที่มองว่า จีนในฐานะมหาอำนาจใหม่จะมาท้าทาย จีนจึงไม่รอให้ตัวเองถูกกระทำ หากแต่สีจิ้นผิงใช้ยุทธศาสตร์ BRI ไปแสวงหาพรรคพวก/สร้างแนวร่วมในเชิงรุกไว้ก่อน หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า จีนได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอีกชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลระดับโลก

ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ในขณะนี้ ข้อริเริ่ม BRI กลายเป็น “ยุทธศาสตร์แห่งศตวรรษ” ตามแผนการใหญ่ของสีจิ้นผิงที่มุ่งมั่นจะให้เป็นอภิมหาโครงการยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 100 ปี นั่นเอง

ข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/1037140385/posts/pfbid0yYGnVQDj2UoszY83X2e5aGswZHspiZjunBVA7ACGKMSKKjhPRKHmJLwbDchZeVvil/?mibextid=kK6hii