“หนี้สินครัวเรือน” น่าห่วง คนแก่หนี้ท่วม วัดฝีมือแก้รัฐบาล “เศรษฐา”

15 ต.ค. 2566 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2566 | 11:17 น.
1.8 k

สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” 2566 ของไทย น่าห่วง เปิดข้อมูลสำคัญ ผลกระทบจากโควิดยังสะเทือนถึงปัจจุบัน จับตากลุ่มคนแก่หนี้ท่วมสูง ยอดหนี้เสียพุ่งทะยาน วัดฝีมือรัฐบาล “เศรษฐา” เร่งแก้ปัญหาด่วน

สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศไทย ยังคงน่ากังวล ด้วยเพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่บอบช้ำสุด ๆ ในช่วง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลสะเทือนมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการจ้างงานและระดับรายได้ของครัวเรือน ส่งผลให้ครัวเรือนขาดสภาพคล่องและมีแนวโน้มที่จะก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดข้อมูลสำคัญเกี่ยวสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน พบว่า สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ก่อนช่วงโควิด-19 อยู่ที่ 84.1% ในปี 2562 และเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติกาลที่ 94.7% ในปี 2564 โดยในปีดังกล่าว ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับ 8 จาก70 ประเทศทั่วโลก 

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% ปรับลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ 

เนื่องจากหนี้ที่สูงจะทำให้ครัวเรือนมีความสามารถในการใช้จ่ายและลงทุนต่ำ อีกทั้งหากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ พร้อมกันจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมการก่อหนี้ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการการช่วยเหลือ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการการแก้ปัญหาที่เหมาะสม และตรงจุด โดยเฉพาะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งยังส่งผลถึงปัญหาหนี้สินในปัจจุบัน 

 

ภาพประกอบ สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศไทย

หนี้กลุ่มคนแก่ขยายตัวสูง

ข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau : NCB) รายงานข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้จำแนกตามวัตถุประสงค์ และกลุ่มอายุ พบว่า

ทุกกลุ่มอายุมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยกลุ่ม 40 - 49 ปี มีมูลค่าหนี้สินคงค้างสูงที่สุดในช่วงปี 2563 - 2565 โดยปี 2565 มีมูลค่าหนี้คงค้าง 3.9 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 30 - 39 ปีที่ 3.6 ล้านล้านบาท แต่หากพิจารณาการขยายตัว พบว่าหนี้ของกลุ่มผู้สูงอายุขยายตัวสูงที่สุด ในระหว่างปี 2563 - 2565 ขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.9% ต่อปี

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาโครงสร้างหนี้แต่ละช่วงวัยยังพบว่า แต่ละกลุ่มมีภาระหนี้ที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี 30 – 39 ปี และ 40 – 49 ปี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่อยู่อาศัย ซึ่งในปี 2565 มีสัดส่วนอยู่ที่ 41.2% , 50.3% และ 41.1% ตามลำดับ 

ขณะที่กลุ่มอายุ 50 - 59 ปีและกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นหนี้อื่น ๆ หรือสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 41.4% ในปี 2562และเพิ่มเป็น 42.2% ในปี 2565

 

ภาพประกอบ สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศไทย

ยอดหนี้เสียพุ่งทะยาน

แม้ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นทุกช่วงวัย แต่หลังโควิด-19 กลุ่มที่มีปัญหามากขึ้น คือกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี กลุ่ม 50 - 59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยทั้ง 3 กลุ่ม มีมูลค่าหนี้เสีย NPL ในปี 2565 สูงกว่าปี 2562 ทั้งที่ตั้งแต่ช่วงโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อชะลอการเกิดหนี้เสียอย่างต่อเนื่อง ทั้ง การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการแปลงเป็นหนี้ระยะยาว 

โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ระหว่างปี 2563 – 2565 มี NPL ขยายตัวเฉลี่ย 10.2% ต่อปี รองลงมาเป็นอายุน้อยกว่า 30 ปี ที่ 4.1% และอายุ 50 – 59 ที่ 1.4% สะท้อนถึงความเปราะบางของลูกหนี้บางกลุ่มซึ่งอาจเกิดจากรายได้ยังไม่ฟื้นตัวและส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้

คนวัยทำงานกู้ซื้อบ้านมากขึ้น

คนวัยทำงานกู้เพื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด โดยในช่วงโควิดทุกช่วงวัยมีการก่อหนี้ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ที่ระหว่างปี 2563 - 2565 มีการกู้เพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.2% ต่อปี ทำให้สัดส่วนหนี้ที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มนี้สูงกว่าหนี้รถยนต์เป็นครั้งแรก

ขณะที่กลุ่มอายุ 30 - 39 ปี และ 40 - 49 ปี มียอดหนี้คงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 5.8% และ 6.6%ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และการผ่อนคลายมาตรการการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value Ratio: LTV) ของธปท. ที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย 

นอกจากนี้หากพิจารณามูลค่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัย พบว่าในช่วงโควิด มีการกู้เงินซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าสูงมากขึ้น โดยการขยายตัวของหนี้ที่อยู่อาศัยในวงเงินมากกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งในช่วงโควิด ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 11.5% ต่อปี และมีจำนวนบัญชีหนี้ที่อยู่อาศัยในวงเงินดังกล่าวขยายตัวเฉลี่ย 10.8% หรือกล่าวได้ว่ามีการซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 

ขณะที่มูลค่าหนี้ของกลุ่มวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.3% ต่อปี อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเดียวที่จำนวนบัญชีหดตัวลงเฉลี่ย 2.1% ต่อปี สะท้อนผลกระทบจากโควิดต่อกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่ไม่มากนัก

 

ภาพประกอบ สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศไทย

 

หนี้รถยนต์ ผิดนัดชำระมากสุด

หนี้รถยนต์เป็นหนี้ที่ลูกหนี้มีพฤติกรรมการผิดนัดชำระหนี้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มอายุน้อยและผู้สูงอายุ โดยหนี้รถยนต์เป็นหนี้ที่มีมูลค่ารวมเป็นอันดับสอง โดยในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 2.6 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 3.8% ครอบคลุมลูกหนี้เกือบ 6 ล้านคน ซึ่งกลุ่มอายุ 30 - 39 ปี เป็นกลุ่มที่มีการก่อหนี้รถยนต์มากที่สุด 

ทั้งนี้ลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียสูงที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วน SML ต่อสินเชื่อรวมสูดสุดที่ 7.5% โดยกลุ่มอายุที่มีสัดส่วนดังกล่าวมากที่สุด คือ กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี ที่มีจำนวนรถเสี่ยงถูกยึดกว่า 9.5 หมื่นคัน ขณะที่กลุ่มที่มีหนี้เสียสูงที่สุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 8.6% ในปี 2565

ทุกช่วงวัยก่อหนี้เสริมสภาพคล่อง

ทุกช่วงวัยก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องมากขึ้นในช่วงโควิด แต่กลุ่มอายุน้อยเป็นหนี้เสียสูงที่สุด โดยพฤติกรรมการก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องสะท้อนจากการก่อหนี้ส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตซึ่งเป็นหนี้ที่เข้าถึงได้ง่าย และมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มาก มีระยะเวลาผ่อนชำระสั้น แต่มีดอกเบี้ยสูงโดยหนี้ดังกล่าวมีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงวัย

โดยลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคนในปี 2562 เป็น 14.4 ล้านคน ในปี 2563 และ 15.5 ล้านคน ในปี 2565 เช่นเดียวกับ หนี้บัตรเครดิตที่มีมูลค่าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อพิจารณาหนี้เสียจากสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมของหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิตในปี 2565 พบว่า หนี้ส่วนบุคคลในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี NPL ต่อสินเชื่อรวมมีสัดส่วนสูงถึง 12.3% และ อายุ 30 – 39 ปี มีสัดส่วน 11.9% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น 

ติดตามหนี้บัตรเครดิต

ขณะที่หนี้บัตรเครดิตในกลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีสัดส่วนสูงเช่นกัน 10.7% ขณะที่กลุ่มอายุ 30 – 39 ปี มีสัดส่วน 11.3%หนี้อื่น ๆ แม้จะไม่สามารถจำแนกประเภทได้อย่างชัดเจน แต่เป็นหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงโควิด โดยกลุ่มอายุ 50 - 59 ปี เป็นหนี้ประเภทนี้มากที่สุด แต่กลุ่มอายุน้อยกว่า 30 ปี มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำที่สุด 

จากภาพรวมหนี้อื่น ๆ ในช่วงโควิด ขยายตัวกว่า 4 แสนล้านบาท หรือขยายตัวประมาณ 6% ต่อปี โดยอายุ 50 - 59 ปี มีการก่อหนี้สูงที่สุดที่ 7.8 แสนล้านบาทในปี 2565 ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมจำแนกตามกลุ่มอายุ พบว่า ทุกกลุ่มอายุมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 10 โดยผู้มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 20.8% ในปี 2565 รองลงมาเป็นอายุ 30 - 39 ปี ที่ 18.6% และอายุ 40 - 49 ปี ที่มีสัดส่วน 16%

 

ภาพประกอบ สถานการณ์ “หนี้สินครัวเรือน” ของประเทศไทย

 

จากสถานการณ์และประเด็นข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง และปัญหาหนี้ของคนแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การดำเนินนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนไม่เพียงแต่จะต้องแก้ไขแบบมุ่งเป้าไปในกลุ่มที่มีปัญหา แต่ยังจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลระบบการปล่อยสินเชื่อร่วมด้วย โดยมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

1.การขยายความครอบคลุมของสมาชิกเครดิตบูโร โดยอาจมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ให้สินเชื่อทุกกลุ่มเข้าเป็นสมาชิก NCB เพื่อให้ผู้ให้สินเชื่อมีข้อมูลสำหรับการพิจารณาให้สินเชื่ออย่างครบถ้วน

2.ต้องมีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อดำเนินการตามเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเข้มงวด โดยปัจจุบัน ธปท. ได้มีการจัดทำเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible lending) ที่จะเป็นแนวทางให้เจ้าหนี้อนุมัติสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดช่วงเวลาการเป็นหนี้

3.หน่วยงานรัฐในฐานะคนกลาง ต้องส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง

4.ส่งเสริมการปลูกฝัง Financial literacy และวินัยทางการเงิน ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกช่วงวัย โดยวัยเด็ก/วัยเรียน ควรมีหลักสูตรที่ช่วยปลูกฝังพฤติกรรมทางการเงินที่ดี ขณะที่วัยทำงาน ซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้และ สามารถก่อหนี้ได้ ควรสร้างความตระหนักรู้ในการวางแผนทางการเงิน การลงทุน และการเก็บออมเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินในยามวิกฤตและเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุ 

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่มีรายได้ลดลงหรือไม่มีรายได้ ควรคำนึงถึงการใช้จ่ายในสินค้าที่จำเป็น และระมัดระวังในการก่อหนี้

5.ดำเนินนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้ หรือกระทบต่อการชำระหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีหนี้สะสมเป็นจำนวนมาก เช่น เกษตรกร เนื่องจากจะสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมกับเกษตรกรในการไม่ชำระหนี้ เพราะรอนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐ หรือการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเงินในมือมากขึ้น