หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อรายได้เพิ่มไม่ทันหนี้

24 ก.ย. 2566 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.ย. 2566 | 10:07 น.
591

หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อรายได้เพิ่มไม่ทันหนี้ :คอลัมน์ยังอีโคโนมิสต์ โดยธาราทิพย์ ตั้งกาญจนภาสน์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นหนึ่งประเด็นใหญ่ของเศรษฐกิจที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ โดยข้อมูลหนี้ครัวเรือนล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2566 อยู่ที่ 86.3% ของจีดีพี ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศเกาหลีใต้อยู่ที่ 104.6% ต่อจีดีพี เพียงเท่านั้น 

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่ากังวลคือ คุณภาพหนี้ของไทยเองก็มีแนวโน้มปรับแย่ลงเช่นกัน โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 แม้ภาพรวมของหนี้เสีย หรือ Non-Performing Loans (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.67% ของสินเชื่อรวมจาก 2.68% ในไตรมาสก่อน แต่ก็มาจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ

ขณะที่สัดส่วน NPL ของสินเชื่อรายย่อย หรือสินเชื่ออุปโภคบริโภคกลับปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.71% เทียบกับ 2.68% ในไตรมาสแรกของปี 2566 จากการปรับขึ้นของ NPL ในสินเชื่อรถยนต์เป็นสำคัญ สะท้อนปัญหาระลอกใหญ่ของหนี้ครัวเรือนไทยที่หากไม่ได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้

หนี้ครัวเรือนไทยน่าห่วงแค่ไหน เมื่อรายได้เพิ่มไม่ทันหนี้

  • ภาวะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย เป็นสาเหตุหลักของปัญหา

เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้ พบว่า ครัวเรือนที่มีหนี้ส่วนใหญ่มีภาวะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายและการชำระคืนหนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย (Household Socio-Economic Survey หรือ SES) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนไทยมีการขาดแคลนรายได้ (Income Shortfall) เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน และเมื่อจำแนกตามภูมิภาคแล้วพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครฯ มีรายได้เฉลี่ยและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนมากที่สุด แต่กลับมีค่าใช้จ่ายด้านหนี้สินน้อยที่สุด จึงทำให้ครัวเรือนกลุ่มนี้ยังไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนรายได้ที่รุนแรงนัก

อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนที่อาศัยในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมถึงครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือที่มีรายได้เฉลี่ยลดหลั่นกัน (15,200 บาท 15,000 บาท และ 12,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ตามลำดับ) หากแต่กลับมีรายจ่ายและภาระหนี้ต่อเดือนที่สูง โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีภาระหนี้เฉลี่ยต่อเดือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับครัวเรือนในภูมิภาคอื่น (4,500 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน) ทำให้ครัวเรือนใน 3 ภูมิภาคดังกล่าวมีปัญหาการขาดแคลนรายได้ที่มากถึงเฉลี่ยเดือนละ 1,500 บาทต่อเดือน

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนไทยที่ด้อยลง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหลายปัจจัยได้แก่

  1. แนวโน้มรายได้ที่เติบโตไม่ดีพอ หรือฟื้นตัวล่าช้าจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะในบางภูมิภาค เช่น ครัวเรือนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาการขาดแคลนรายได้หนักกว่าภูมิภาคอื่น และยังมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางรายได้จากราคาสินค้าเกษตรและภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ (El Niño) ในระยะต่อไปอีกด้วย
  2. ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาอาหารสด ราคาพลังงาน และค่าไฟฟ้า เป็นต้น
  3. ภาระการชำระหนี้ต่อเดือนที่สูงจากการกู้ยืมที่ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภทไม่มีหลักประกันและไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหนี้ระยะสั้นและมีอัตราดอกเบี้ยสูง เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่มีหลักประกันและเป็นสินเชื่อระยะยาว เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนรายได้ ยังจะสร้างภาระหนี้เพิ่มเติมให้กับครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้เดิมอยู่แล้วอีกด้วย

 

  • หนี้ครัวเรือนไทยส่อเค้ารุนแรงมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภาวะดอกเบี้ยสูง

มองไปในระยะข้างหน้า ปัจจัยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัวลง และปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวของรายได้ครัวเรือน เช่น รายได้ภาคเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ (El Niño) ภาคผลิตและภาคการส่งออกที่ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากธุรกิจ SMEs ยังมีความเปราะบางสะสมมากจากปัญหาหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 อยู่

นอกจากนี้ ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ภาคครัวเรือนจึงยิ่งต้องมีวินัยในการใช้จ่าย เพิ่มความระมัดระวังและจัดการหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับรายได้ นอกจากนี้ สถาบันการเงินและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องควรเร่งมือเสริมสร้างโครงสร้างระบบการเงินให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อไม่ให้ภาคครัวเรือนมีความเปราะบางทางการเงินสูงจนฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต