ครม.ตีกลับ กสศ.ของบ 7 พันล้าน หวั่นซ้ำซ้อนช่วยนร.ยากจนกับ ศธ.

10 ต.ค. 2566 | 15:59 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2566 | 16:19 น.

ครม. ตีกลับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ของบช่วยเหลือการศึกษาเด็กยากจน หลังถูกรัฐมนตรีตั้งข้อสังเกตในวงประชุม มีบางแผนงานอาจใช้เงินซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ

วันนี้ (10 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กลับไปทบทวนแผนการใช้เงินของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ฉบับทบทวน) จำนวน 9 แผนงาน วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท ใหม่ หลังมีข้อสังเกตว่ามีบางแผนงานอาจใช้เงินซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีวงเงินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,021.21 ล้านบาท ซึ่งการเสนอเข้ามาครั้งนี้เป็นการเสนอเข้ามาอีกครั้งหลังจากถูกสั่งให้กลับไปทบทวนมาแล้ว 1 ครั้ง โดยที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตและถกเถียงกันว่า มี 2 แผนงานที่อาจซ้ำซ้อนกัน ประกอบด้วย

แผนงานที่ 2 ว่าด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา สำหรับประถมวัยและภาคบังคับ เช่นพัฒนาระบบคัดกรองช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในครัวเรือนยากจน โดยการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ซึ่งเสนอขอเงินเข้ามาสูงที่สุด วงเงิน 4,448.96 ล้านบาท

แผนงานที่ 6 ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระดับสูงกว่าภาคบังคับ เช่น การสนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสให้ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่เสมอภาคกับเยาวชนทุกคน วงเงิน 1,025.09 ล้านบาท

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

“ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้พอสมควร และบอกว่าเป็นห่วงว่า กองทุนฯ เสนอของเงินมาครั้งนี้อาจไปซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจัดการศึกษากับภาคบังคับทุกระดับชั้นและใช้งบไปหลายแสนล้านอยู่ แล้ว ครม.จึงให้อธิบายว่าซ้ำซ้อนกับงบกระทรวงศึกษา หรือไม่ โดยให้นำข้อสังเกตของครม.ไปทบทวน และจัดทำรายละเอียดมาเสนออีกครั้ง” นายชัย กล่าว

นายชัย ขยายความว่า ครม.ได้ขอ กสศ. ไปพิจารณารายละเอียดตามข้อสังเกตต่าง ๆ ให้เกิดความชัดเจน และกลับมาเสนอในครม.ครั้งหน้า โดยต้องมีคำอธิบายให้กระจ่าง ว่าไม่ซ้ำซ้อนอย่างไรบ้าง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่อมาจากรัฐบาลที่แล้ว มีรัฐมนตรีคนหนึ่งอภิปรายว่า ในการประชุมครม.คราวที่แล้ว มีการท้วงติงกันไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยมีข้อสงสัยว่าจะมีความซ้ำซ้อน และเสนอมาเที่ยวนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบาย อีกทั้งยังไม่มีมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย จึงจ้ำเป็นต้องกลับไปทบทวนให้กระจ่าง โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน” โฆษกรัฐบาล ระบุ

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.

ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้รับทราบข้อเสนอ และยืนยันว่า รัฐบาลจะสนับสนุน กสศ. อย่างเต็มที่ 

โดย ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. ระบุในช่วงการหารือกับนายกฯ ว่า ในการทำงานที่ผ่านมา กสศ. ได้พยายามหาทางป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

โดยฐานข้อมูลจากการสำรวจติดตามเด็กพบว่าในแต่ละปี จะมีนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่าหนึ่งแสนคนสำเร็จการศึกษาภาคบังคับในช่วง ม.3 แต่ในจำนวนนี้จะเหลือนักเรียนเพียงหนึ่งหมื่นคนที่ฝ่าฟันอุปสรรคจนเข้าสอบผ่านระบบ TCAS ได้เรียนมหาวิทยาลัยหรือคิดเป็นประมาณ 13% เท่านั้น 

 

นายกรัฐมนตรี หารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเด็กได้เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างช่องทางหนุนเสริมแนวทางการดูแลเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ยั่งยืนได้

ดร.ประสาร ระบุว่า กสศ. เข้าใจเรื่องข้อจำกัดด้านการคลังของประเทศ โดยในปี 2565 กสศ. มีงบประมาณราว 6,000 ล้านบาท พร้อมข้อมูลการสำรวจที่พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งมีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาจากสถานการณ์โควิด-19 

ดังนั้น กสศ. จึงเสนอของบประมาณเพิ่มเติมไปที่ 7,000 กว่าล้านบาท แต่ได้ถูกตัดไป ซึ่งเงินที่ขาดไปราว 1,900 ล้านบาท กสศ. จึงตั้งใจแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรมาเพิ่มและหาช่องทางระดมในทุกทาง เช่นมาตรการด้านเงินบริจาคต่อไป