นายกฯ ชี้แจกเงินดิจิทัล 10000 หนุนเศรษฐกิจปี 67 โต 5%

03 ต.ค. 2566 | 14:52 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 14:53 น.

“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ชี้แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต หนุนเศรษฐกิจปีหน้าโต 5% วางเป้าแก้ความยากจนในปี 2570 เตรียมความพร้อมไทยรับต่างชาติลงทุน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน Thailand : The Ear of Change ว่า ประเทศไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากโควิด รัฐบาลจึงได้เตรียมมาตรการต่างๆ เตรียมไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจกว่า 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้ 5%

“นโยบายเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท จะเป็นการสร้างรากฐานการใช้บล็อกเชน และจะสนับสนุนการลงทุนในอนาคต ซึ่งรัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ที่จะนำอุตสาหกรรมอนาคตใหม่เข้ามา และรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการจ้างงาน เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อย และต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีเป้าหมายยกระดับความยากจนของประชาชนในปี 2570”

นอกจากนี้ ในเรื่องการสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ใช้ high-skilled and high-tech ดังนั้นการลงทุนเหล่านี้ จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยเตรียมความพร้อมประเทศไทยให้สามารถเติบโตในเศรษฐกิจโลกใหม่ 

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เข้าร่วมการประชุม UNGA78 และได้มีการผลักดันประเด็นเรื่องการลงทุน ผ่านการหารือกับผู้นำภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึง Tesla และ Estee Lauder ที่กําลังพิจารณาขยายธุรกิจในประเทศไทย Google และ Microsoft อยู่ระหว่างพิจารณาลงทุน data centers ในไทย 

นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกับสถาบันการเงินเช่น BlackRock, Citi, Goldman Sachs และ JPMorgan ล้วนสนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จึงขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อให้โอกาสเหล่านี้เกิดขึ้น

นายเศรษฐา กล่าวว่่ รัฐบาลยังมุ่งกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งขยายตลาดส่งออก รัฐบาลจะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้ากับประชาคมระหว่างประเทศรวมถึง การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และบูรณาการกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) 

รวมถึงยกระดับกรอบความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว ทั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) โดยรัฐบาลวางแผนดำเนินนโยบายเชิงรุก และโดดเด่นในเวทีโลกมากขึ้น

 ด้านนโยบายทางการเงินการคลัง รัฐบาลตระหนักดีว่าทุกนโยบายต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังที่สมดุล เพราะจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน อันดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของประเทศ ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีชื่อเสียงล้วนจัดให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเชิงบวก 

โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s ได้จัดให้ไทยมีอันดับเครดิตที่มีเสถียรภาพ (stable outlook) สะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค จากการมีสถานะทางการเงินและภาคต่างประเทศที่มีความแข็งแกร่ง โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นต่อสถานการณ์และความเสี่ยงได้ดี

 นอกจากนี้ ไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งสัดส่วนทุนสำรองฯ ต่อมูลค่าสินค้านำเข้าอยู่ที่ 10 เท่า สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล จึงเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง 

“รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ และประสานการทำงานกับทุกภาคส่วน เพื่อรักษาสมดุลของงบประมาณรายจ่ายและรายรับทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

 ด้านการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน การประชุม UNGA ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำโลก เพื่อยืนยันเจตนารมย์ของไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศ เดินหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยราชการใหม่ คือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถรับมือและดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับความท้าทายที่เกิดขึ้น 

พร้อมทั้งผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาด (Clean Air Act) และรัฐบาลให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อภาคการเกษตรและภาคการผลิตต่าง ๆ โดยรัฐบาลได้บูรณาการทั้งการชลประทานแบบผิวดิน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้