“จุลพันธ์” แย้มเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขยายรัศมี-ไม่ซ้ำรอยรถคันแรก

03 ต.ค. 2566 | 14:14 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 15:08 น.

“จุลพันธ์” แถลงเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet พร้อมขยายรัศมี 4 กม. ตั้งทีมขับเคลื่อน สรุปรายละเอียดจบ ต.ค.2566 ยันมีแหล่งเงิน ไม่ซ้ำรอยรถคันแรก ที่ผ่านมาได้ดูอย่างรอบคอบรัดกุมแล้ว

วันนี้ (3 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าจะเริ่มประชุมในสัปดาห์นี้ และจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดของโครงการได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 ส่วนการเริ่มต้นโครงการนั้นยังต้องเป้าหมายไว้ว่าจะเริ่มตั้งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ตามเป้าหมายเดิม

โครงสร้างของคณะกรรมการ

สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ประกอบไปด้วยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ

ขณะที่รองประธาน 4 คน ประกอบด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ , นายปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ , นายอนุทินชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย , นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ส่วนกรรมการ ประกอบไปด้วย  ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง , นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง , ปลัดกระทรวงดีอีเอส , ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ปลัดกระทรวงพาณิชย์ , ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ , ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) , ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา , อัยการสูงสุด และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

อำนาจหน้าที่ การประชุมนัดแรก

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ จะครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อพิจารณาแนวนโยบาย กรอบงบประมาณ แหล่งที่มาของงบประมาณ กลไกการดำเนินการต่าง ๆ รวมถึงติดตามและตรวจสอบปัญหาและอุปสรรคของนโยบาย กลไกป้องกันการทุจริต และการสรุปผลสัมฤทธิ์ของโครการ ก่อนจะรายงานให้ ครม.รับทราบต่อไป

“นายกฯได้นัดหมายประชุมคณะกรรมการฯนัดแรกภายในสัปดาห์นี้ อาจจะเป็นวันที่ 5-6 ตุลาคม 2566 นี้ โดยในการประชุมนัดแรกจะมีการมอบนโยบายจากนายกฯ รวมถึงตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย มีตนเป็นประธาน รวมถึงนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง จะร่วมกันขับเคลื่อนตัวนโยบายต่างๆ โดยมีหน้าที่รวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบรายละเอียดในทุกมิติที่เป็นคำถามของสังคม” 

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ยันไม่ขัดกฎหมายการเงิน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำนโยบายครั้งนี้จะขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เงินตรา หรือไม่ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย หลังหารือกับ ธปท.เบื้องต้น แล้ว ส่วนการนำระบบบล็อกเชนมาใช้หรือไม่นั้น ยืนยันว่า รัฐบาลจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในโครงการแน่นอน เพราะเป็นกลไกที่มีความปลอดภัยสามารถตรวจสอบได้ เป็นกลไกที่เรายืนยันว่าขณะนี้ไม่มีเทคโนโลยีที่โปร่งใสเท่านี้อีกแล้ว 

ส่วนข้อกังวลถึงการใช้เงินของโครงการ หลังมีกระแสข่าวว่านายกฯ จะเพิ่มเพดานหนี้ตามมาตรา 28 เป็น 45% เพื่อให้มีช่องวางทางการเงินการคลังมาใช้ในโครงการนั้น นายจุลพันธ์ ปฏิเสธว่า ไม่มี และไม่รู้ว่าข่าวนี้มาจากไหน รัฐบาลยืนยันเรายึดมั่นในกรอบวินัยการเงินการคลัง และเราทำให้ดีที่สุด โดยรัฐบาลยืนยันการดำเนินมาตรการนี้ไม่ได้มีปัญหาด้านแหล่งเงินที่จะนำมาใช้สำหรับดำเนินโครงการ และสามารถจะจัดทำโครงการออกมาได้ 

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของการดำเนินโครงการทั้งหมด รวมไปถึงเรื่องของการแหล่งวงเงินที่จะใช้ในโครงการนั้น ยอมรับว่า แนวทางของการเพิ่มเพดานหนี้ก็เป้นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะต้องไปหารือกันในคณะอนุกรรมขับเคลื่อน ซึ่งจะมีทางเลือกต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ก่อนจะสรุปรายละเอียดเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกฯ เป็นประธานพิจารณา 

 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

 

เล็งขยายพื้นที่มากกว่า 4 กม.

ขณะที่ข้อกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขโครงการ ซึ่งกไหนดรัศมีการใช้เงินดิจิทัลภายในพื้นที่ 4 กิโลเมตรนั้น นายจุลพันธ์ ยอมรับว่า ในเบื้องต้น การขยายกรอบพื้นที่ให้มากกว่า 4 กม. มีความเป็นไปได้สูง แต่สุดท้ายจะเป็นเช่นไร ขอให้ทางคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้รับเสียงสะท้อนมาจากหลายภาคส่วนให้ขยายรัศมีการใช้เงินให้ครอบคลุมมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากขึ้นอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าการผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทออกมาครั้งนี้ มีความกังวลว่า อาจจะไม่ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร และเงินบางส่วนอาจจะเข้ากระเป๋าเจ้าสัวแทนการให้ร้านค้ารายย่อยอย่างเดียวนั้น รมช.คลัง ระบุว่า มาตรการนี้จะไม่มีการกันใครออกจากระบบ และจะได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งหมด ทั้งที่อยู่ในระบบภาษี และไม่อยู่ในระบบภาษี โดยรัฐบาลก็รับทราบในข้อกังวลนี้ และจะมีกลไกจูงใจให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบชุมชน ทั้งการกำหนดกรอบระยะเวลา 6 เดือน และ พื้นที่ในการใช้เงินดิจิทัล

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนแน่นอน และหากใช้หลายมาตรการรวมกัน เช่น การออกมาตรการพักหนี้ที่ผ่านมาจะนำมาผนวกร่วมกับเงินดิจิทัลได้ หรือ ถ้าเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ และมีเงินดิจิทัลวอลเล็ตนำไปซื้อปัจจัยการผลิตผ่าน ธ.ก.ส. ทางธ.ก.ส.ก็พร้อมเติมเงินเข้าไปให้เพื่อซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มเติม ทำให้เกษตรกรมีวงเงินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

“กลไกในการทำโครงการ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะสร้างพายุทางเศรษฐกิจให้เกิดการหมุน โดยไม่ใช่แค่หมุนอยู่ในตัวเมืองใหญ่ แต่ต้องการให้หมุนอยู่ทั่วประเทศ จะมีทั้งขนาดกลาง ขนาดย่อม ซึ่งจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจตามมา โดยนายกฯ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราต้องการให้เศรษฐกิจไทยเฉลี่ยโตอย่างต่ำ 5% ต่อปีให้ได้ ผ่านกลไกของเงินดิจิทัล ซึ่งเป็นเพียงกลไกหนึ่งเท่านั้น ยังมีกลไกอื่น ๆ ที่จะมาบวกอีกตามแผนควิกวินของรัฐบาล”

ไม่ซ้ำรอยนโยบายรถคันแรก

ผู้สื่อข่าวถามว่าการดำเนินมาตรการนี้กระทรวงการคลังประเมินความเสี่ยงเอาไว้หรือไม่ โดยที่ผ่านมาก็มีบทเรียนแล้วเช่นการทำโครงการรถคันแรกแล้วเกิดปัญหาขึ้นตามมาทีหลัง โดย รมช.คลัง ยอมรับว่า กระทรวงการคลังก็ไม่ได้ประเมินถึงขนาดนั้น โดยที่ผ่านมาได้ดูอย่างรอบคอบรัดกุมแล้ว เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์และเดินหน้าสู่การกระจายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทย

“เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมอง ผมเองไม่ได้เป็นรัฐมนตรีในช่วงนั้น แต่เป็นสส. เรื่องรถยนต์คันแรกก็มีคนได้รับประโยชน์ แต่แน่นอนก็เกิดปัญหาในบางส่วน ซึ่งทุกนโยบายมีทั้งบวกและลบ เพียงแต่ว่าเราจะจำกัดเรื่องของความเสียหายหรือความผิดพลาดอย่างไร และต้องทำให้ประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด”

ครม.ตั้ง 4 คณะดันนโยบาย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวม 4 คณะ ได้แก่ 

  • คณะกรรมการนโยบายฯ โดยมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ 
  • คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ 
  • คณะทำงานด้านตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ
  • คณะทำงานด้านบริหารฐานข้อมูลโครงการฯ