"แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท" บวกหรือลบต่อตลาดหุ้นไทย ?

02 ต.ค. 2566 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 14:32 น.

"แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท" รอรัฐเคลียร์ 2 ปมเงินที่ใช้และการใช้เงิน "บล.ยูโอบี ฯ" แนะคอนโทรลความเสี่ยง ชี้เป็นได้ทั้งบวกและลบต่อตลาดหุ้น แนะชัวร์ ๆลงหุ้นได้อานิสงส์บาทอ่อน อิเล็กทรอนิกส์ ท่องเที่ยว การแพทย์ ให้กรอบดัชนี SET ต.ค.แนวรับ 1,440- 1,460 จุด

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และนักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" โดยวิเคราะห์นโยบายแจกเงินดิจิทัลรายละ 10,000 บาท ว่ายังไม่แน่ว่านโยบายนี้จะส่งผลบวกหรือลบต่อตลาดหุ้นไทย จากที่รัฐบาลคาดหวังว่าจะเพิ่มกำลังซื้อ แต่ทั้งนี้ต้องดูที่มาของเงินที่รัฐบาลจะใช้ใน 3 กรณี

1. มาจากเงินกู้ยืมจากตลาดเงิน อาทิโดยออกตราสารหนี้ วิธีนี้อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีต้นทุนการกู้ยืมในตลาดแพงขึ้นตาม

2.การยืมจากแบงก์รัฐ ผลกระทบต่อ"บจ.และตลาดหุ้น"อาจน้อยกว่ากรณีแรก

3.รัฐขายหุ้นกองทุนบางแห่ง เช่นกองทุนวายุภักษ์ที่ถือหุ้นบจ.ขนาดใหญ่  ซึ่งหากขายก็จะกระทบต่อหุ้นนั้น ๆ และตลาด
 

นอกจากนี้มองในแง่"การใช้เงิน" ก็ยังมีความกังวลว่า นโยบายนี้รัฐบาลจะดึงเงินเพื่อขยายฐานภาษี โดยให้เกิดการใช้จ่ายยังธุรกิจท้องถิ่นมากกว่า  หากเป็นดังนั้นก็อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทขนาดใหญ่หรือหุ้นในตลาดฯมากนัก

"ความไม่ชัดเจนใน 2 ประเด็นดังกล่าว  นักลงทุนจึงโฟกัสเรื่องการคอนโทรลความเสี่ยงมากกว่า  ซึ่งเราให้คำแนะนำว่าในระหว่างนี้แนะให้ลงในหุ้นที่ได้ประโยยชน์จากทิศทางเงินบาทอ่อนค่าทางตรงและทางอ้อม " นายกิจพณ กล่าว 
 

กลยุทธ์ : เน้นหุ้นที่มีความเสี่ยงปรับประมาณการกำไรต่ำหรือมีแนวโน้มกำไรช่วงครึ่งปีหลัง หรือในระยะยาวที่แข็งแกร่ง อาทิหุ้นกลุ่มการแพทย์ สื่อสาร รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าในระยะกลาง-ยาว โดยกลุ่มได้ประโยชน์ทางตรง อาทิ หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร/เกษตร ส่วนกลุ่มกลุ่มได้ประโยชน์ทางอ้อมจากบาทอ่อนค่า เช่นการแพทย์และท่องเที่ยว เป็นต้น

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน ให้แนวรับ ดัชนีหุ้นไทยในเดือนตุลาคม 2566 ที่ 1,440-1,460 จุด