เจาะเบื้องหลัง “ธนจิราฯ” 5 ปีพาเหรดแบรนด์ดัง ลงทุนต่างแดน

01 ต.ค. 2566 | 16:52 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2566 | 16:52 น.

เปิดใจ “ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” 5 ปี เดินหน้าสร้างแบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นสยายปีกเอเชีย หลังขับเคลื่อนนำทัพแบรนด์ดัง ทั้ง Pandora, Marimekko, Cath Kidston, HARNN ลงทุนต่างแดน

ธุรกิจไลฟ์สไตล์และลักชัวรีแบรนด์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกระแทกจากวิกฤติต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจหรือแม้แต่โรคระบาด ด้วยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงที่แม้จะมีกำลังจ่ายสูง แต่ก็มีภาระต้องใช้จ่ายและบริหารธุรกิจ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ การกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ กลายเป็นแรงหนุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์แบรนด์และลักชัวรี กลับมาได้รับแรงบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มของธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ TAN ผู้บริหารแบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่นลักชัวรี เช่น Pandora, Marimekko, Cath Kidston, HARNN และ Vuudh ฯลฯ

เจาะเบื้องหลัง “ธนจิราฯ” 5 ปีพาเหรดแบรนด์ดัง ลงทุนต่างแดน

เส้นทางความสำเร็จของ “ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น” หรือ TAN เกิดจากแพชชั่นของ “ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล” ทายาทธุรกิจโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ดีกรี “วิศวะ” ที่ตัดสินใจเดินออกจากธุรกิจครอบครัวหลังช่วยดูแลภาพรวมและบริหารธุรกิจครอบครัวมาระยะหนึ่ง โดยธุรกิจที่ “ธนพงษ์” เลือกปักธงในการเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจของตัวเองคือ “นำเข้าสินค้าแบรนด์เนม”

นายธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นคือ ได้เห็นโอกาสที่แตกต่างจากธุรกิจครอบครัวที่เคยทำมาก่อน เพราะธุรกิจครอบครัวเป็นเรื่องของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ธุรกิจที่เราเริ่มเป็นการสร้างแบรนด์ โดยมี Pandora เป็นแบรนด์แรกของพอร์ต สินค้ามีความท้าทายในตัวเองเพราะลูกค้าไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าคืออะไร เราต้องสร้างความเข้าใจอย่างหนักเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกเป็นแบรนด์ที่สวมใส่ได้จริง และใส่ทุกวันได้ เพราะฉะนั้นความท้าทายจึงเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้คนเห็นคุณค่าของแบรนด์ในช่วงแรก

หลังจากใช้เวลา 4 ปีในการปลุกปั้นแบรนด์ Pandora ให้แจ้งเกิดในไทยและสร้างความเข้มแข็งจากฐานกำลังทุน ฐานความเข้าใจ ฐานความสัมพันธสภาพกับคู่ค้าพันธมิตรเช่นศูนย์การค้าได้แล้ว “ธนพงษ์” ดึงแบรนด์ marimekko เข้ามาบริหารต่อ ซึ่งเขายอมรับว่า ในช่วงแรกแทบไม่มีคนรู้จักแบรนด์นี้ ขณะที่สินค้าเองตอบโจทย์ได้ยากมาก และหลังจากเว้นช่วงไปประมาณ 3 ปี ธนจิราตัดสินใจ M&A และ Take Over กิจการ Cath Kidston ในประเทศไทยทั้งหมด

เจาะเบื้องหลัง “ธนจิราฯ” 5 ปีพาเหรดแบรนด์ดัง ลงทุนต่างแดน

นอกจากความชัดเจนของกลุ่มลูกค้าแล้วยังมี มีสโตร์ประมาณ 30-40 สาขาอยู่แล้ว ดังนั้นความท้าทายจึงอยู่ที่การ นำ DNA ของธนจิราจาก 2 แบรนด์แรกมาตีโจทย์ เพราะ Cath Kidston เดิมเป็นการลดราคาเพื่อขาย งานยากจึงอยู่ที่การนำมาแก้เกมธุรกิจ

“หลังบริหาร Cath Kidston ได้แค่ปีเดียวแบรนด์ที่ 4 ก็เข้ามา นั่นคือการซื้อกิจการของกลุ่มแบรนด์ HARNN ในปี 2018 เป็นงานยากติดต่อกันและเป็นแบรนด์สุดท้ายซึ่งมีความยากในเรื่องที่คนไทยไม่มองเลย มีสัดส่วนลูกค้าคนไทยแค่ 5% และเป็นการซื้อเป็นของฝากให้คนอื่นไม่ใช่ซื้อใช้ด้วยตัวเอง ที่เหลือ 95% เป็นนักท่องเที่ยว เราก็ต้องแก้ Pain Point ตรงนี้ว่าทำไมคนไทยถึงไม่มอง พอเป็นแบรนด์ของเราเองแล้ว

กระบวนการคิดงาน 0-100 อยู่ในมือคนไทยทั้งหมด ถ้าพลาดต้องรอให้หมดรอบแล้วสร้างกันใหม่เพราะการผลิต 1 ครั้งเราโยนทิ้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นการจะทำให้คนยอมรับต้องใช้เวลา ความอดทน ความมุมานะ ความเพียรและความตั้งใจจริง ตอนนี้ Pandora ยังคงเป็นพอร์ตที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทประมาณ 50%”

“ธนพงษ์” บอกอีกว่า บริษัทเริ่มขยายพอร์ตธุรกิจโดยต่อยอดธุรกิจจากแบรนด์ภายใต้พอร์ตโฟลิโอ สู่ธุรกิจไลฟ์สไตล์อาหารและเครื่องดื่ม ผ่านการตั้งป๊อปอัพ-คาเฟ่ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ marimekko pop-up cafe และ Cath Kidston Tearoom เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วม และถ่ายทอดเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านการใช้จริง เพื่อให้ลูกค้ามีไลฟ์สไตล์ร่วมกับแบรนด์ ผ่านการมารับประทานอาหารในร้านคาเฟ่ และกระตุ้นการซื้อผลิตภัณฑ์ของแบรนด์

เจาะเบื้องหลัง “ธนจิราฯ” 5 ปีพาเหรดแบรนด์ดัง ลงทุนต่างแดน

รวมทั้งทำให้แบรนด์เป็นรู้จักเพิ่มขึ้นจากการแชร์ไลฟ์สไตล์ลงโซเชียลมีเดียของลูกค้าเพื่อสร้างการเติบโตแบบ Synergy ของแบรนด์ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ มุ่งสู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับภูมิภาค และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย “แบรนด์ไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับภูมิภาค” ผู้บริหารมองว่าการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์คือ ทางออกที่ตอบโจทย์ธนจิรามากที่สุด เพราะเป็นธรรมชาติของการขยายธุรกิจ เป็นช่องทางการระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในสเกลที่จะได้เงินทุนมากพอในการขยายธุรกิจ

“การเข้าตลาดหลักทรัพย์แน่นอนต้องยอมเสียความเป็น ownership แต่เราได้ผลพลอยได้อื่นๆด้วย คือ การใช้ช่องทางตลาดทุนเป็นฐานในการระดมทุนเพื่อขยายงานที่ใหญ่กว่าเดิม นั่นคือ “ธนจิรา” คิดขยายธุรกิจมากกว่าขวานทองออกไปสู่ภูมิภาคเริ่มจาก นำ marimekkoไปเปิดตลาดสิงคโปร์ ,ขยาย HARNN ในญี่ปุ่น ,และใช้ Cath Kidston ขยายตลาดเวียดนาม ซึ่งต้องสร้างอาณาจักรโดยของมีไทยเป็นเฮดควอเตอร์ และการเป็นมหาชนจะสร้างมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น ตรวจสอบได้ โปร่งใสมีความเป็นสากล สอดคล้องกับแนวทางการขยายไปในภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม หลังจาก TAN ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว ทั้งนี้ TAN จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 77.5 ล้านหุ้น

“เรามองอนาคต 5 ปีของธนจิราว่า ควรจะเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคในหมวดไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่ได้รับการยอมรับ ส่วนการจะขยายไปกี่ประเทศเราไม่ได้มองจำนวนประเทศหรือจำนวนแบรนด์เท่ากับได้รับการยอมรับ แต่ต้องเป็นการทำในประเทศนั้นๆ ประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นตอนนี้ไพออริตี้ในการขยายธุรกิจ นอกจากไทยจะมีจีน ญี่ปุ่น เวียดนามและสิงคโปร์แค่ 4 ประเทศ

ดังนั้นไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ในการขยายธุรกิจของเอกชนยังต้องคงประคับประคองแนวทางการทำธุรกิจของตัวเองให้มีความสมดุล เพื่อจะสร้างการเจริญเติบโตในแต่ละปี โดยไม่ต้องคำนึงสภาวะเศรษฐกิจ ว่าจะต้องดีเลิศหรือไม่ ไม่มีเหตุผลต้องฟังว่ารัฐบาลจะเป็นชุดใหม่หรือชุดเก่า เพราะเราไม่หวังพึ่งกับรัฐบาล และอีกเหตุผลหนึ่งคือเราไม่ได้จับกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเยอะจากสภาวะเศรษฐกิจ เราเป็นสินค้าที่จับกลุ่มบน หรือพรีเมียมขึ้นไปซึ่งยังพอมีกำลังซื้อ”

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,926 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566