10 ปี ข้าวไทยในตลาดโลก : เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3

01 ต.ค. 2566 | 14:55 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2566 | 15:32 น.

10 ปีข้าวไทยในตลาดโลกก้าวหน้า หรือถอยหลัง รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วิเคราะห์ข้อมูลพบถอยหลังมากกว่าก้าวหน้า

10 ปี ข้าวไทยในตลาดโลก :  เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3

บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช
ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด

ข้าวไทยส่งออกไปขายมากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก (โลกมีประเทศทั้งหมด 193 ประเทศ) สะท้อนว่าเกือบทุกประเทศได้มีโอกาสกินข้าวของไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศอย่าง “กาบอง (Gabon)” ในแอฟริกากลาง ที่เพิ่งปฏิวัติไปเมื่อ 30 ส.ค. 2566 (มีนักฟุตบอลชื่อดังคือ ปีแยร์-แอเมอริก เอมีลียาโน ฟร็องซัว โอบาเมอย็องก์)  และ “ประเทศไนเจอร์ (Niger)” ในแอฟริกาตะวันตก ที่เพิ่งปฎิวัติเช่นกัน เมื่อ 26 ก.ค.2566 ก็นำเข้าข้าวสารจากประเทศไทย

ปี 2022 ทั่วโลกผลิตข้าวเปลือกได้ 787 ล้านตัน เป็นข้าวสาร 503 ล้านตัน ผลผลิตข้าวสารรวมของจีนกับอินเดียคิดเป็น 55% ผลผลิตข้าวสารโลก แต่จีนมีความต้องการบริโภคในประเทศสูง เลยต้องนำเข้าข้าวสารจากต่างประเทศ

ในขณะที่อินเดียมีข้าวเหลือ ทำให้สามารถนำข้าวสารไปส่งออกได้ สำหรับไทยมีศักยภาพผลิตข้าวสารได้เพียง 4% ของผลผลิตข้าวสารโลก รองจากประเทศอาเซียนอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ปี 2565 ไทยผลิตข้าวเปลือกได้ 33 ล้านตัน เป็นข้าวไทย 20 ล้านตัน เป็นผลผลิตข้าวขาว 40% ข้าวหอมมะลิ 30% ข้าวเหนียว 20% ข้าวหอมปทุมธานี 6% และที่เหลือเป็นข้าวอื่นๆ

สินค้าเกษตรที่เป็น “พืช” โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ทำหน้าที่ “3F (Food Feed Fuel)” คือ เพื่อการบริโภคของคน เพื่ออาหารสัตว์ และเพื่อพลังงานทางเลือก “ข้าวสารร้อยละ 80 วัตถุประสงค์เพื่ออาหารคน (Food)” ที่เหลือไปทำพลังงานทางเลือก ต่างกับข้าวโพดที่ร้อยละ 75 เพื่ออาหารสัตว์ (Feed)

10 ปี ข้าวไทยในตลาดโลก :  เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3

ประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก คือ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา สหรัฐฯ จีน กัมพูชา บราซิล และอุรุกวัย เมื่อประเมิน 10 ปีย้อนหลังของตลาดข้าวโลก ผู้ส่งออกข้าวหลักมี 3 ประะเทศ คือ อินเดีย (37%)  ไทย (14%) และเวียดนาม (14%) เพราะมีสัดส่วนการส่งออกรวมสูงกว่าประเทศอื่น ๆ

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ 3 ประเทศส่งออกหลักลดลงจาก 72% เหลือ 65% ของปริมาณการส่งออกโลก “เพราะ 5 ปีย้อนหลัง ข้าวเวียดนาม และไทย ส่งออกลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ในขณะที่อินเดียและประเทศอื่น ๆ ส่งออกเพิ่มขึ้น”

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวโลกเพิ่มจากปีละ 32 ล้านตัน เป็น 35 ล้านตัน “ตลาดข้าวไทย” ส่งออกใน 5 ตลาดหลักคือ เอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอาเซียน เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปตลาดหลักคือตะวันออกกลาง สัดส่วน 60% แอฟริกา สัดส่วน 20% และอาเซียน สัดส่วน 15% ตามลำดับ

แต่หลัง 5 ปีที่ผ่านมา โครงสร้างตลาดข้าวไทยเปลี่ยนแปลงไปเป็น “เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3”  หมายความว่า เพิ่มขึ้นใน 2 ตลาดคือ แอฟริกาและยุโรป แต่ลดลงในตลาด 3 ตลาด คือตะวันออกกลาง เอเชีย และอาเซียน โดย ตลาดตะวันออกกลางที่เคยครองอันดับ 1 เหลือ 25% มีตลาดแอฟริกาเข้ามาแทนที่เป็นอันดับ 1 สัดส่วนเพิ่มจาก 20% เป็น 40% และตลาดยุโรปอันดับ 2 เพิ่มจาก 5% เป็น 25% ในขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง เอเชียและอาเซียนลดลง ตลาดตะวันออกกลางลดลงเพราะ “ข้าวอินเดีย” ส่วนตลาดเอเชียและอาเซียนลดลงเพราะ “ข้าวเวียดนาม” รวมถึงประเทศเอเชียและอาเซียนหันมาผลิตข้าวเอง

10 ปี ข้าวไทยในตลาดโลก :  เดินหน้า 2 ถอยหลัง 3

“มูลค่าและปริมาณส่งออกข้าวไทย” ไทยเคยส่งออกข้าวสารสูงสุดที่ 10 ล้านตัน และต่ำกว่า 5 ล้านตัน (2020) ส่วนปี 2566 ตั้งเป้า 8 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกเคยสูงสุด 1.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 1 แสนล้านบาทต้น ๆ  “คู่แข่งข้าวไทย” เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกข้าวไทยเทียบกับคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม พบว่า มูลค่าข้าวไทยต่ำกว่า 2 ประเทศ ในทุกตลาด ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ปริมาณส่งออกข้าวอินเดียสูงขึ้นจากโดยเฉลี่ยส่งออกปีละ 10 ล้านตัน เป็นมากกว่า 18 ล้านตันในปี 2022

แต่ในปี 2023 (วันที่ 20 ก.ค. 2566 รัฐบาลอินเดียห้ามส่งออกข้าว Non-Basmati white rice และในวันที่ 25 ก.ค.เก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่ง 20% HS 1006 30 10) อินเดียห้ามส่งออกข้าว ทำให้การส่งออกข้าวอินเดียหายไปจากตลาดโลก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสทองของการส่งออกข้าว

เราจะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาพ “Sandwich” คือไทยอยู่ตรงกลาง เจอทั้งปัญหาต้นทุนการผลิตข้าวที่สูงกว่าประเทศ ต้องแข่งกับข้าวเวียดนาม และช่วงหลังแข่งกันข้าวอินเดีย  ไทยต้องมานั่งทบทวนการแข่งขันข้าวทั้งระบบในอีก 10 ปีข้างหน้า