สภาพัฒน์ ผสมโรงเตือน พักหนี้เกษตรกร บี้ ธ.ก.ส. คัดกรองลูกหนี้เข้มข้น

29 ก.ย. 2566 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 17:44 น.

สภาพัฒน์ ผสมโรงเตือน นโยบาย “พักหนี้เกษตรกร” รัฐบาลเศรษฐา มีความเสี่ยง แนะ ธ.ก.ส. คัดกรองลูกหนี้เข้าร่วมโครงการที่เดือดร้อนจริง และ ทำแค่สั้น ๆ หวั่นกระทบต่อฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. และภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ

ในที่สุด มาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” ตามนโยบายรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้ชื่อว่า มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.

มีสาระสำคัญ คือ การพักหนี้เกษตรกร ที่เป็นลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ค้างชำระ คือ หนี้ 0 - 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

แม้มาตรการนี้จะถูกผลักดันออกมาได้ภายในระยะเวลาไม่นาน หลังจากรัฐบาลได้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มรูปแบบ แต่การขับเคลื่อนนโยบาย พักหนี้เกษตรกร นั้น ก็ยังมีเสียงเตือนจากทั้งนักวิชาการ และองค์กรต่าง ๆ ล่าสุดจากการตรวจสอบรายละเยียดของมติครม. พบข้อมูลว่า มีหน่วยงานที่เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เข้ามา 2 หน่วยงาน แจ้งเตือนให้รัฐบาลรับทราบ หนึ่งในนั้นคือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ธปท. เตือนมาตรการ พักหนี้เกษตรกร 2566

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหนังสือด่วนที่สุด เข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณาวาระการจัดทำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล มีสาระสำคัญเป็นการแจ้งเตือนถึงการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว จะต้องให้ความระมัดระวังกับผลที่อาจจะเกิดขึ้นข้างหน้า โดยสรุปได้ดังนี้ 

 

เอกสาร สภาพัฒน์ ทำหนังสือด่วนที่สุด ประกอบการพิจารณาวาระการจัดทำมาตรการพักหนี้เกษตรกร

 

มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงการพัฒนาศักยภาพ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ภายใต้หลักการ “ตลาดน้ำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ถือเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ 

โดยมาตรการพักชำระหนี้ ควรพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะเจาะจงกับลูกหนี้ที่มีปัญหาเดือดร้อนเร่งด่วนอย่างแท้จริง และควรนำมาใช้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันปัญหาการสะสมของหนี้สินของหนี้สินเกษตรกร ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว 

ดังนั้น สศช. จึงมีความเห็นว่า เห็นควรให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พิจารณาคัดกรองผู้ที่เข้าร่วมโครงการให้เป็นลูกหนี้ที่มีความเดือดร้อนทางด้านสภาพคล่องอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ เกิดแรงจูงใจที่จะไม่ชำระหนี้

 

สภาพัฒน์ ผสมโรงเตือน พักหนี้เกษตรกร บี้ ธ.ก.ส. คัดกรองลูกหนี้เข้มข้น

พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลของเกษตรกร ร่วมกันประเมินสภาพปัญหาของผู้ที่แสดงความประสงค์ จะเข้าร่วมโครงการ และกำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมแก่สภาพปัญหาของเกษตรกรแต่ละราย นอกเหนือจากการพักชำระหนี้ เช่น 

  1. การลดดอกเบี้ย 
  2. การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ 
  3. การให้ความช่วยเหลือทางด้านต้นทุนการผลิตการตลาด 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรได้ในระยะยาว และเพื่อเป็นการใช้เงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ลดแรงกดดันที่อาจจะส่งผลต่อฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. และภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป

 

สภาพัฒน์ ผสมโรงเตือน พักหนี้เกษตรกร บี้ ธ.ก.ส. คัดกรองลูกหนี้เข้มข้น

 

รายละเอียด เงื่อนไข พักหนี้เกษตรกร

มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ค้างชำระ หรือ หนี้ 0 - 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 

โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

สำหรับลูกหนี้ที่ประสงค์จะออกจากการเข้าร่วมมาตรการจะต้องแจ้งความประสงค์ต่อ ธ.ก.ส. โดยมีเงื่อนไขดังนี้ 

  • ต้องเป็นลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี 
  • ลูกหนี้ที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อตามปกติกับ ธ.ก.ส. โดยก่อนการยื่นขอสินเชื่อ จะต้องสละสิทธิ์การเข้าร่วมมาตรการ ซึ่งจะได้รับการพิจารณาวงเงินตามศักยภาพ
  • กรณีลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ เช่น การไม่เข้าร่วมการประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ประจำปี หรือไม่เข้าร่วมการอบรมและฟื้นฟูการประกอบอาชีพที่ ธ.ก.ส. กำหนด หรือก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้นกับสถาบันการเงินอื่นระหว่างเข้าร่วมมาตรการ ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ออกจากมาตรการดังกล่าว