ธรรมนัส รับปาก 22 จว.ติดทะเล ลุยแก้ปัญหาประมง-ราคากุ้ง

23 ก.ย. 2566 | 16:20 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2566 | 16:26 น.

รมว.เกษตรฯ รับปากจะช่วยแก้ไขให้กับพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล ทั้งเรื่องกฎระเบียบและราคากุ้งตกต่ำ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงาน ณ ท่าเทียบเรือกัลปังหา และพบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังปัญหา และติดตามสถานการณ์ พร้อมแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

 

ธรรมนัส รับปาก 22 จว.ติดทะเล ลุยแก้ปัญหาประมง-ราคากุ้ง

 

ทั้งนี้ จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายแดนสุดฝั่งทะเลตะวันออก มีอาณาเขตด้านชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเล มีความยาว 330 กิโลเมตร โดยทางบกติดกับทางจังหวัดของประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดโพธิสัต และจังหวัดเกาะกง ซึ่งมีแนวชายแดนธรรมชาติติดทิวเขาบรรทัด เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตลอดแนวมีความยาว 165 กิโลเมตร และมีแนวอาณาเขตทางทะเลมีความยาว 185 กิโลเมตร โดยจังหวัดตราดเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญ ทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ รวมทั้งพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งชายฝั่งและน้ำจืด ผลผลิตสัตว์น้ำของจังหวัดตราด มีมากกว่า 82,779 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5,599.80 ล้านบาท ผลผลิตจากการทำการประมง 55,643 ตัน มูลค่า 2,344.21 ล้านบาท ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 27,136 ตัน มูลค่า 3,255.59 ล้านบาท

 

ธรรมนัส รับปาก 22 จว.ติดทะเล ลุยแก้ปัญหาประมง-ราคากุ้ง

 

สำหรับทะเบียนเกษตรกร มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) 1,317 ราย แบ่งเป็น กุ้งทะเล 476 ราย หอยทะเล 346 ราย ปลาน้ำจืด 317 ราย ปลาทะเล 125 ราย จระเข้ 14ราย สัตว์น้ำสวยงาม 3 ราย และสัตว์อื่น ๆ 36 ราย ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 27,136 ตัน มูลค่า 3,255.59 ล้านบาท ทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) 539 ราย ทะเบียนผู้ทำอาชีพทำการประมง (ทบ.2) 3,334 ราย เรือประมงพื้นบ้านที่มีทะเบียนเรือไทย จำนวน 3,379 ลำ ได้แก่ อวนติดตา อวนครอบหมึก อวนลอยปลากระบอก อวนจมปูม้า อวนลอยปลาทู และเรือประมงพาณิชย์ที่มีทะเบียนเรือไทย จำนวน 588 ลำ ได้แก่ อวนครอบปลากะตัก อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง

 

ธรรมนัส รับปาก 22 จว.ติดทะเล ลุยแก้ปัญหาประมง-ราคากุ้ง

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับปากจะช่วยแก้ไขปัญหาพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีความเข้มงวดและเป็นอุปสรรคต่อการทำประมงในปัจจุบัน โดยชาวประมงเสนอให้มีแนวทางบรรเทาผลกระทบในช่วงการเปลี่ยนผ่านของกฎหมาย และจะช่วยดูราคากุ้งตกต่ำ ทั้งกุ้งแวนนาไม กุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม ซึ่งมีปัจจัยมาจากโรคระบาดและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขอให้มั่นใจว่าจะร่วมแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล

 

ธรรมนัส รับปาก 22 จว.ติดทะเล ลุยแก้ปัญหาประมง-ราคากุ้ง