BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น เพิ่มรู้ทบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา

16 ก.ย. 2566 | 14:51 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 14:51 น.
857

BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น ขยายเน็ตเวิร์คเพิ่มรายได้สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา พร้อมขยายธุรกิจสนามบินในมือ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดใจถึงทิศทางของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เผยว่าจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการ ของบางกอกแอร์เวย์ส ช่วงครึ่งปีแรกดีกว่าคาดไว้ สายการบินจึงได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้ตลอดทั้งปีนี้ พร้อมเดินหน้าล้างขาดทุนสะสม รวมถึงมองการขยายสนามบินต่อเนื่อง 

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

  • ธุรกิจการบินดีเกินคาด ปรับเพิ่มเป้ารายได้ขายตั๋วทะลุ 1.6 หมื่นล้าน เปิดเส้นทางบินใหม่

จากผลประกอบช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้ BA ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินเพิ่มจาก 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.6 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เป็น 78% จากเดิม 76% และราคาตั๋วเครื่องบินเฉลี่ย เพิ่มเป็น 3,700 บาท/เที่ยว จากเดิมวางเป้าไว้ 3,400 บาท แต่ยังคงเป้าหมายจำนวนผู้โดยสารปี 66 ที่ 4.4 ล้านคน และเที่ยวบิน 48,000 เที่ยว

BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น เพิ่มรู้ทบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา

ทั้งดีมานต์การเดินทางที่เพิ่มขึ้น สายการบินจึงเตรียมจะเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยจะเปิดเส้นทางบินใหม่ ดอนเมือง-สมุย  3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เริ่ม 29 ต.ค.นี้ ใช้เครื่องบินเล็ก ATR  เพื่อรองรับลูกค้าในโซนด้านนี้ที่เป็นคนละกลุ่มกับผู้ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ การกลับมาเปิดบิน กรุงเทพ-มัลดีฟส์ เริ่ม ก.ย.66 และการเปิดเส้นทางบินสมุย-ฉงชิ่ง และสมุย-เฉิงตู ที่คาดว่าจะเริ่มบินในเดือน พ.ย.นี้ 

เส้นทางบินบางกอกแอร์เวย์ส

รวมถึงได้ร่วมมือกับสายการบินต่างๆ อาทิ การบินไทย เอมิเรตส์ กาตาร์ แอร์เวย์ในการทำอินเตอร์ไลน์ (ใช้ตั๋วใบเดียวจากสนามบินต้นทาง สามารถรับกระเป๋าสนามบินปลายทางได้ โดยไม่ต้องโหลดกระเป๋าใหม่)

ล่าสุดร่วมมือกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ และแอร์อินเดีย ในการทำโค้ดแชร์ (ทำการบินรหัสร่วม)และอินเตอร์ไลน์ร่วมกัน เพื่อขยายเน็ตเวิร์คการให้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส ได้ทำโค้ดแชร์กับสายการบินพันธมิตรรวมกว่า 28 สายการบินแล้ว และการทำอินเตอร์ไลน์ รวมกว่า 68 สายการบิน

BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น เพิ่มรู้ทบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา

นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมแผนขยายฝูงบินรองรับ โดยจะรับมอบเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 2 ลำในต้นปี 67 และวางแผนในช่วง 3-5 ปี จะเพิ่มฝูงบินเป็นกว่า 30 ลำ จากก่อนโควิด บริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 40 ลำ โดยปัจจุบันมีฝูงบิน 26 ลำ แบ่งเป็น เครื่องแอร์บัส A320 จำนวน 3 ลำ เครื่องบินแอร์บัส A319 จำวน 13 ลำ และ เครื่องบิน ATR72-600 จำนวน 10 ลำ ปัจจุบันนำมาใช้บิน 20-21 ลำ ส่วนที่เหลือรอซ่อมบำรุง ซึ่งหากมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นก็มองการขยายเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในกลุ่ม CLMV

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส

  • เดินหน้าล้างขาดทุนสะสม

อย่างไรก็ตามจากรายได้ของสายการบินดีขึ้นและมีทิศทางเป็นบวก ทำให้ BA มองเรื่องการล้างขาดทุนสะสมที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยจะนำ สำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาหักกลบกับขาดทุนสะสม ทำให้ขาดทุนสะสมสิ้น 30 มิ.ย.นี้ ที่ 13,720 ล้านบาท ลดลงเหลือ 4,291 ล้านบาท ซึ่งบริษัทก็คาดหวังจะมีผลประกอบการดีเพื่อล้างขาดทุนสะสมได้เร็ว

BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น เพิ่มรู้ทบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา

นอกจาก BA จะมีรายได้จากธุรกิจสายการบินอยู่ที่ราว 80% แล้ว ยังมีรายได้จากธุรกิจกิจการสนามบิน และสัมปทานในสนามบิน ที่ BA ก็มองการขยายธุรกิจในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ ต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

สัดส่วนรายได้ของ BA

  • เสนอตัวพร้อมลงทุนสนามบินพังงา

นายพุฒิพงศ์ ยํ้าว่า ธุรกิจ สนามบินให้ Yield (อัตราผลตอบแทน) ที่ดีกว่าธุรกิจสายการบิน เราจึงมองโอกาสในการขยายสนามบิน ซึ่งปัจจุบันบริษํทฯเป็นเจ้าของสนามบินที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด 

แต่เราก็ยังมองถึงการลงทุนสนามบินใหม่ด้วย ถ้ามีโอกาสก็ยังสนใจจะลงทุนสนามบินพังงา บริเวณโคกกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็มองพื้นที่นี้ไว้เช่นกัน

ดังนั้นเราคงต้องรอดูข้อสรุปว่าทาง ทอท. จะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสนามบินพังงาหรือไม่ ถ้าทอท.ไม่ลง เราก็พร้อมลงทุน แต่หาก ทอท.ยืนยันว่าจะลงทุน บางกอกแอร์เวย์สก็รอทำ การบินอย่างเดียว เพื่อเปิดเส้นทางบินใหม่ รองรับการเดินทางเข้า จ.พังงา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง นักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินเข้าสนามบินภูเก็ตแล้วเลือกเดินทางตรงไปพังงาก็มีจำนวนมาก

รวมทั้งหลังโควิด-19 มีสายการบินต่างๆ ประมาณ 6-8 ราย เลือกเปิดเส้นทางระหว่างประเทศบินตรงเข้าภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมให้บริการแค่เส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ เท่านั้น หากมีสนามบินพังงามาเพิ่ม ก็จะช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นจากสนามบินภูเก็ตซึ่งเป็นหนึ่งในเกตเวย์สำคัญของประเทศไทย

BA จัดทัพรับธุรกิจฟื้น เพิ่มรู้ทบางกอกแอร์เวย์ส เสนอตัวลงทุนสนามบินพังงา

  • ขยายสนามบินตราด จ่อเพิ่มสินทรัพย์สนามบินสมุย เข้ากองทรัสต์

ขณะเดียวกันบริษัทฯยังเตรียมจะขยายศักยภาพของสนามบินตราด ใช้งบลงทุนราว 1,000 ล้านบาท โดยเตรียมสร้างอาคารผู้โดยสาร (Terminal) หลังใหม่ และขยายทางวิ่ง (Runway) เพื่อรองรับเครื่องบินพาณิชย์ลำใหญ่ขึ้น เช่น แอร์บัส A320 ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากขึ้น

โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งมีดีมานด์ต้องการบินมาท่องเที่ยว จ.ตราด และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะทัวร์ผลไม้ ซึ่งคาดเริ่มก่อสร้างในปี 2567 ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 18 เดือน ซึ่งกว่าจะเสร็จตลาดนักท่องเที่ยวจีนก็คงจะฟื้นตัวพอดี

ในส่วนของสนามบินสมุย ก็มีแผนการขายสินทรัพย์เข้า “กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย” (BAREIT) เพิ่มเติม คาดว่าอีกประมาณ 2 ปีน่าจะ นำสนามบินสมุยอีกส่วน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยต้องการให้สนามบินสมุยมีกิจกรรมมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นตาม ปัจจุบันกองทรัสต์ BAREIT มีรายได้ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นปีละ 2% ตั้งแต่ปี 2567

  • จ่อลงทุนสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1 ต้นปีหน้า

สำหรับการลงทุนสนามบินอู่ตะเภา ที่เป็นธุรกิจสนามบินที่บริษัทฯได้เข้าไปร่วมลงทุนในนาม บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) นั้น UTA เตรียมทยอยเพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท ถ้ายังไม่มีการส่ง มอบพื้นที่ก็จะยังไม่ใส่เงินเพิ่มทุน ซึ่งคาดว่าทางอีอีซี น่าจะออกหนังสือ NTP ส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2567

โดยตามแผน UTA จะเริ่มงานก่อสร้างในเฟสแรก สร้างอาคารผู้โดยสารเฟสแรก รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี ก่อสร้าง 3 ปี ใช้เงินกู้ 70% ส่วนทุน 30% ซึ่งคาดว่าจะใช้ส่วนทุน 9,000 ล้านบาท

ในด้านของธุรกิจสัมปทานภายในสนามบินสุวรรณภูมินั้น BA มีสัญญาในการดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการภาคพื้น และครัวการบิน ซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2569 เราก็พร้อมจะยื่นเสนอตัวที่จะเข้าประมูลใหม่ แม้ว่าทอท.จะเปิดให้มีการสัมปทานในโครงการนี้สำหรับผู้ประกอบการที่ราย 3 ด้วย โดยคงต้องขอความชัดเจนจากทอท. ว่าจะมีแนวทางอย่างไร 

เพราะการลงทุน อุปกรณ์ต่างๆ ต้องใช้เวลาในการจัดหาอุปกรณ์ และปัจจุบันการให้บริการในส่วนเหล่านี้ก็สามารถรองรับได้ทันกลับดีมานต์แล้ว ไม่เหมือนช่วงแรกๆที่ดีมานต์การเดินทางกลับมาเร็ว สวนทางกับจำนวนพนักงานที่จัดหาไม่ทัน หลังจากพนักงานได้ออกจากอาชีพนี้ไปจากผลกระทบของโควิด-19 และไม่ยอมกลับมาสมัครงานต่อ

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของ BA ที่จะเกิดขึ้น