ครม. นัดแรก นายกฯเศรษฐา ลุยต่อเวลา ลดภาษี VAT 7%

13 ก.ย. 2566 | 06:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2566 | 06:28 น.

ครม.นัดแรก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน วันนี้ 13 กันยายน 2566 กระทรวงการคลัง ชงขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษี VAT 7% หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาปลายเดือน กันยายน นี้

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันที่ 13 กันยายน 2566 นอกจากจะมีนโยบายของรัฐบาลเสนอเข้ามาหลายเรื่องแล้ว กระทรวงการคลัง ยังเตรียมเสนอขยายเวลาการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภาษีแวต (VAT) 7% ออกไปอีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการขยายเวลาลดภาษีในวันที่ 30 กันยายน 2566

สำหรับการจัดเก็บภาษี VAT นั้น ที่ผ่านมา ครม.เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบการต่ออายุมาตรการขยายเวลาการลดอตัราภาษี VATโดยให้คงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% จากอัตราปกติ 10% เป็นเวลา 2 ปี สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2566 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง รายงานต่อครม.ว่า การคงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณีในอัตราเดิม คือ 7% ถือเป็นอัตราภาษีที่รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว จากอัตราภาษี VAT ปกติซึ่งคิดอัตรา 6.3% โดยการขึ้นภาษี VAT ทุก 1% จะทำให้รัฐบาลเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

 

ครม. นัดแรก นายกฯเศรษฐา ลุยต่อเวลา ลดภาษี VAT 7%

ภาษี VAT คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหน

สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT ถือเป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือเป็นผู้ที่ขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน (หากไม่เกินก็ขอจดทะเบียนได้)

 

ครม. นัดแรก นายกฯเศรษฐา ลุยต่อเวลา ลดภาษี VAT 7%

ทั้งนี้หากทำธุรกิจที่อยู่ในข่ายต้องจดทะเบียนฯ แต่ไม่ได้จดทะเบียนจะต้องมีความผิดอย่างไร 

  • ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  • เสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากยอดขายสินค้าหรือบริการ ตั้งแต่วันที่มีหน้าที่จดทะเบียนฯ เพื่อเป็นผู้ประกอบการฯ 
  • เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละเดือนภาษี 
  • เสียเงินเพิ่มอัตรา 1.5% ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ 
  • ไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนฯ ไปหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้ (ภาษีขาย)