จับตา ประชากรแฝงกทม. 2.7 ล้านคน อาจหมดสิทธิใช้ เงินดิจิทัล 10000 บาท

11 ก.ย. 2566 | 06:19 น.
5.7 k

จับตา ประชากรแฝง กทม.กว่า 2.7 ล้านคน มีความเสี่ยงสูง อาจหมดสิทธิใช้ เงินดิจิทัล 10000 บาท ตามนโนบายรัฐบาลในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2567 สามารถตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เตรียมแถลงต่อรัฐสภา ในฐานะนโยบายของรัฐบาล 

สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยทำการแจกเงินผ่าน Digital Wallet ถูกกำหนดวงเงินไว้สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท มีเงื่อนไขเบื้องต้น ตามที่พรรคเพื่อไทยเคนประกาศเอาไว้ในช่วงหาเสียงว่า ผู้ที่ได้รับสิทธิ หมายถึงคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้กระเป๋าเงินดิจิทัล โดยมีอายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ 

โดยที่ผ่านมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเอาไว้ว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเริ่มใช้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นการจ่ายรวดเดียวหนเดียว ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)

 

ภาพประกอบข่าว นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ยังมีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขสำคัญเกี่ยวการใช้เงิน เพราะกำหนดให้เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน 

นั่นจึงอาจทำให้กลุ่มคนหนึ่งที่เป็นประชากรแฝง ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานต่างถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลายคนอาจไม่ได้ใช้สิทธิในนโยบายนี้ หรือถ้าใช้ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกได้ เพราะจะต้องใช้จ่ายเงินดิจิทัลในพื้นที่รัศมี 4 กิโลเมตรตามที่อยู่ที่ระบุเอาไว้ในทะเบียนราษฎร์

ฐานเศรษฐกิจได้สำรวจ ข้อมูลสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบข้อมูลที่น่าสนใจ ณ เดือนสิงหาคม 2566 ดังนี้ 

  • จำนวนประชากรทั่วประเทศ 66,056,867 คน
  • จำนวนประชากร กรุงเทพฯ 5,476,145 คน

 

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร จากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนสิงหาคม 2566

ส่วนจำนวน "ประชากรแฝง" ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจประชากรแฝง ล่าสุด ในปี 2565 ประกอบด้วยประชากรกลุ่มที่ได้เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือในจังหวัดที่ตนไม่ได้พักอาศัย ลักษณะเช้าไปเย็นกลับ เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางวัน” และประชากรกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ประจำแต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้านหรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนพักอาศัย เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางคืน” พบข้อมูล ดังนี้

  • จำนวนประชากรแฝงทั่วประเทศ 9,158,800 คน
  • จำนวนประชากรแฝง กรุงเทพฯ 2,753,400 คน

 

การสำรวจประชากรแฝง ล่าสุด ในปี 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

ทั้งนี้หากประชากรแฝงกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 2.75 ล้านคน ต้องการจะใช้สิทธิในการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตามนโนบายของรัฐบาล แน่นอนว่าจะต้องเดินทางกลับไปใช้จ่ายในพื้นที่ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน โดยมีระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะต้องจับตาต่อไปว่า คนกลุ่มนี้จะสามารถใช้สิทธิได้ทั้งหมดหรือไม่ 

ส่วนรายละเอียดที่แน่ชัดของเงื่อนไขต่าง ๆ สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล ฐานเศรษฐกิจจะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ต่อไป