"เศรษฐา"บูมภูเก็ต ผุด 9 โปรเจ็กต์ยักษ์ ทอท.ควัก 8 หมื่นล้าน ปั้นสนามบินพังงา

02 ก.ย. 2566 | 15:36 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 11:37 น.
7.8 k

ท่องเที่ยวภูเก็ตเฮ นายกเศรษฐา รับปากผลักดัน 9 บิ๊กโปรเจ็กต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานรับนักท่องเที่ยว ทอท.เด้งรับทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท ขยายสนามบินภูเก็ต รับเพิ่มเป็น 20 ล้านคน พร้อมศึกษาสร้างสนามบินแห่งใหม่พังงา 8 หมื่นล้านบาท

ก่อนโควิด-19 การท่องเที่ยว “ภูเก็ต” มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 14 ล้านคน สร้างรายได้ 4.4 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ มีมูลค่าเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต หรือ GDP ถึง 2.51 แสนล้านบาท และคาดว่าการท่องเที่ยว ของภูเก็ตจะกลับมาฟื้นตัว 100% ในปี 2567

การนำทีมของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ไปเยือนภูเก็ตและพังงา เป็นจังหวัดแรกๆ เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณการให้ความสำคัญด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลใหม่อย่างชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทย ในการผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง เป็นแหล่งรายได้ใหม่ที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา สร้างเมืองใหม่ให้มีความพร้อมในการขยายตัว รองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต เป็นศูนย์กลางการกระจายความเจริญสู่จังหวัดรอบกลุ่มอันดามัน

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร

ผมในฐานะประธานหอการค้า และอดีตนายกสมาคมโรงแรมไทย ภาคใต้ เคยพบปะนักการเมืองและผู้นำประเทศมาหลายครั้ง นับว่าครั้งนี้เป็นความหวังครั้งใหม่ และชัดเจนมากที่สุดที่ออกมาจากปากของนายกรัฐมนตรี ในการที่จะพัฒนาเกาะภูเก็ตแห่งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์มุมมองของนักพัฒนาระดับประเทศ คือ “การพัฒนาจะดูเฉพาะผลตอบแทนรายโครงการไม่ได้ ต้องดูองค์รวม ทำสิ่งที่จำทั้งหมด เพื่อความสำเร็จในภาพรวม ดังนั้นบางโครงการอาจจะไม่มีผลกำไรโดยตรง แต่เมื่อทำแล้วรัฐจะได้ประโยชน์ใน ด้านอื่นที่คุ้มค่า ก็ต้องทำ” แค่ได้ยิน ประโยคนี้ ภูเก็ตก็มีความหวังแล้ว

สำหรับผลลัพธ์จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้รับปากชัดเจนที่จะผลักดันใน 9 เรื่อง ได้แก่ 

1.โครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งใหม่ บริเวณโคกกลอย จ.พังงา หรือ สนามบินพังงา ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพราะแม้ทอท.จะได้รับสิทธิในการบริหารสนามบินกระบี่ของกรมท่าอากาศยานหรือทย. แต่ด้วยระยะทางจากสนามบินกระบี่ต่อรถมาถึงภูเก็ต ใช้เวลาเดินทางมากถึง 4-5 ชั่วโมง จึงมีความไม่สะดวก เหมือนการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่พังงา ซึ่งคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้อีก 1 เท่าตัว จากสนามบินภูเก็ต ที่รองรับได้ราว 15-20 ล้านคนต่อปี

2. โครงการทางพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ซึ่งเป็นทางด่วนจากสนามบิน วิ่งตรงเข้าเมือง และกะทู้

3. โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง (อุโมงป่าตอง)

4. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และส่วนต่อขยายไปยังท่าฉัตรไชย (รถไฟฟ้ารางเบา)

5. โรงกำจัดขยะ แห่งที่ 2 ทางตอนเหนือเกาะ

6.  Free Visa นักท่องเที่ยวจีน

7. เรื่องการขยาย Long Term Visa บางประเทศ

8. การผลักดัน กำหนด Zoning Night Life ขยายเวลาการให้บริการ ถึง ตี 4 หรืออาจจะ 24 ชั่วโมง (ตามที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะตกลงกันในพื้นที่) 

9. การส่งเสริมจังหวัดภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ ซึ่งต้องแก้ปัญหาเรื่องวีซ่าผู้ปกครอง ครู และนักเรียน

\"เศรษฐา\"บูมภูเก็ต ผุด 9 โปรเจ็กต์ยักษ์ ทอท.ควัก 8 หมื่นล้าน ปั้นสนามบินพังงา

ทั้งนี้โครงการที่ 1-5 ล้วนเป็นการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินในลงทุนจากภาครัฐ โดยหากไม่นับรวมการลงทุนสร้างสนามบินภูเก็ต 2 ที่พังงา ซึ่งเป็นการดำเนินการของทอท. ก็จะเห็นว่าโครงการพัฒนาทางบกในหลายโครงการ รวมถึงโรงงานกำจัดขยะ รัฐบาลจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการ ที่เหลือจะไม่ได้เป็นการลงทุนแต่เป็นเรื่องของการแก้กม.และทำเรื่องโซนนิ่ง

ส่วนโครงการท่อส่งนํ้า ระหว่างจังหวัด พังงา-ภูเก็ต จะมีการติดตามผ่านช่องทางการจัดสรรงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในการประชุมครม.ของรัฐบาลชุดใหม่ ก็น่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเป็นโครงการที่การประปาส่วน ภูมิภาคกำหนดให้เป็นโครงการเร่งด่วนอันดับ 1 ของภาคใต้ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่สำคัญ ที่จะผลักดันผ่านกระทรวงต่างๆ ต่อไป

ภูเก็ตแม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก แต่มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนนํ้า โดยมีความต้องการในการใช้นํ้าประปาต่อปีอยู่ที่ 80 ล้านคิว แต่มีกำลังการผลิตที่ 50 ล้านคิว ดังนั้นการขุดอ่างเก็บนํ้าจากพังงา ผลิตนํ้าประปา และส่งผ่านท่อส่งนํ้าจากพังงามาภูเก็ตก็จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้

ด้านนายภูมิกิตต์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่าการลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตของนายกรัฐมนตรีเป็นจังหวัดแรก เป็นการส่งสัญญาณการให้ความสำคัญการท่องเที่ยวของรัฐบาลหน้าอย่างชัดเจนทั้งนี้มีหลายเรื่องที่ได้นำเสนอจากภาคเอกชนภูเก็ต ทั้งด้านการพัฒนาด้าน Demand และส่งเสริมฝั่ง Supply รวมถึงการทำภูเก็ตให้พร้อมเป็นเมืองน่าอยู่ของทั้งคนท้องถิ่น นักท่องเที่ยว และนักลงทุน

\"เศรษฐา\"บูมภูเก็ต ผุด 9 โปรเจ็กต์ยักษ์ ทอท.ควัก 8 หมื่นล้าน ปั้นสนามบินพังงา

โดยนายกรัฐมนตรีระบุชัดเจนว่า “การมาภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก เพราะที่นี่คือสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยว และท่องเที่ยวเป็นประตูรายได้หลักของประเทศ เพื่อไทยไม่มี สส. ที่ภูเก็ตแม้แต่คนเดียว แต่ผมเลือกเอาการเมืองไว้ข้างหลัง ถึงเวลาต้องทำงานให้ประเทศชาติแล้ว” ซึ่งก็คงต้องรอผลการนำเสนอจากมติครม. ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในระยะแรกๆ ที่น่าจะมีอะไรออกมาให้ภูเก็ตและการท่องเที่ยวได้ดีใจกันถ้วนหน้า

ขณะที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยหลัง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ตและพังงา ว่า ได้รับนโยบายจากนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีให้เร่งบริหารจัดการความแออัดภายในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง รวมถึงแก้ปัญหาบัตรโดยสารแพงให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในช่วงไฮซีซั่นนี้

\"เศรษฐา\"บูมภูเก็ต ผุด 9 โปรเจ็กต์ยักษ์ ทอท.ควัก 8 หมื่นล้าน ปั้นสนามบินพังงา

สำหรับในส่วนของการพัฒนา สนามภูเก็ตก็จะมีการขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ตจากปัจจุบันรองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี วงเงิน 10,000 ล้านบาทเสร็จในปี 2568 และในช่วงที่เราปรับปรุงสนามบินภูเก็ต ก็จะศึกษา สร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ จ.พังงา รับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน คาดว่าใช้ เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาสนามบินภูเก็ต