พร้อมกันนี้ยังเสนอแนวคิดการเพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่งปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ 5 แห่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี และมีกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมวิชาการเกษตร กรุงเทพมหานคร
ขณะที่เวลานี้การผลิตเมล็ดพันธุ์ คุณภาพดีที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการผลิตได้กระจายอยู่ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย 1.เมล็ดพันธุ์พืชไร่และปาล์มนํ้ามัน จำนวน 17 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด หลัก ขยาย จำหน่าย พืชตระกูลถั่ว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วลิสงทั้งเปลือก ปาล์มนํ้ามัน (เมล็ดงอก) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งา เป็นต้น
2.ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักและพันธุ์พืชสวน จำนวนไม่น้อยกว่า 106 ชนิด ผลิตพันธุ์พืชแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ผล พืชสวนอุตสาหกรรม ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และพืชผัก เช่น ทุเรียน กาแฟอาราบิกา กาแฟโรบัสต้า มะพร้าวกะทิ มะพร้าวนํ้าหอม มะพร้าวพันธุ์ไทย มะพร้าวลูกผสม ปทุมมา ขิง กระวาน ผักบุ้งจีน และถั่วฝักยาว เป็นต้น
สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ดี ตัวเมล็ดต้องมีคุณภาพดีและเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะมีลักษณะดังนี้คือ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามพันธุ์ที่ระบุไว้ (ตามฉลาก) โดยความตรงตามพันธุ์นั้นไม่สามารถดูได้จากเมล็ด แต่เมื่อปลูกแล้วจะมีลักษณะปรากฎ (phenotype) เป็นไปตามที่ลักษณะ ตามพันธุกรรม (genotype) ที่ต้องการของพันธุ์กําหนดคุณภาพทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปน ปราศจากโรคและไข่แมลง มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และมีความแข็งแรงสูง
ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ความงอกและความแข็งแรงสูง ส่งผลให้เจริญเติบโตเร็วสมํ่าเสมอ และอัตราการรอดชีวิตในสภาพไร่นาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกแล้วให้ผลผลิตสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ เพราะใช้อัตราตํ่ากว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดการแพร่ระบาดเมล็ดวัชพืชที่ปนมากับเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูง
กรมวิชาการเกษตรได้มีการดูแลควบคุมคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรได้พันธุ์ตรงตามความต้องการ โดยให้การรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ความงอก ความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงตรวจสอบสุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าเกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและตรงตามพันธุ์ความต้องการของเกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ประชุมหารือกับหลายหน่วยงานจากภาคเอกชน เช่น สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ผู้บริหารของบริษัท เจียไต๋ จำกัด เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อน (World Leader of Tropical Seeds) และเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed-Hub) ของภูมิภาคเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(APEC) ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และ BCG Economy Model ที่เป็นวาระแห่งชาติของไทย
ทั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุนการส่งออกเมล็ดพันธุ์ให้มีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และสนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชร่วมกับภาคเอกชน ให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์และสุขอนามัยพืชในระดับสากลเพื่อการค้าเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศ การนำเข้า และการส่งออกผ่านระบบ NEW DOA-NSW และ e-Phyto เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วน สามารถขับเคลื่อนให้เมล็ดพันธุ์ไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากล