เอกชนระนองจี้รัฐบาลใหม่ ลดอุปสรรคค้าชายแดน

23 ส.ค. 2566 | 13:53 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2566 | 14:05 น.

เอกชนระนอง จี้รัฐบาลใหม่เร่งหาทางลดขั้นตอนการค้า- ส่งออกของการค้าไทย-เมียนมา หลังมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและเป็นอุปสรรคขยายการค้าขายตามแนวชายแดน

นายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง  รองประธานคณะกรรมการหอการค้า จ.ระนอง  เปิดเผยว่าการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ยังมีอุปสรรคต่อการค้า ทางภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

คือการลดขั้นตอนทางการค้าโดยเฉพาะระเบียบปฏิบัติในการนำเข้า-ส่งออก ที่ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายเมียนมาต่างมีกฏข้อระเบียบที่ซับซ้อนและยุ่งยากเป็นอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การค้า การลงทุนระหว่างไทยกับเมียนมายังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร 

จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและเข้ามาบริหารประเทศ ให้ศึกษาดูข้อปัญหาการค้างไทยกับเมียนมา จุดใหนที่ยังเป็นปัญหา หรือขวางกั้นการขยายตัวของการค้าทั้งสองประเทศให้รัฐบาลใหม่หาแนวทางแก้ไข ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวเลขการค้าส่งออกอย่างแน่นอน

จากการที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดความร่วมมือกันอย่างจริงจังหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาแล้วนั้น ผลจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าอย่างแน่นอน แต่ในช่วงแรกอาจจะยังไม่เด่นชัด เพราะยังสับสนต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เนื่องจากหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่อย่างจะปรากฏชัด  แต่จะค่อยๆปรากฏให้เห็นทั้งผลดีและผลกระทบที่เกิดขึ้น

เอกชนระนองจี้รัฐบาลใหม่ ลดอุปสรรคค้าชายแดน

ดังนั้นช่วงจังหวะดังกล่าวนั้นทุกคนจะต้องเรียนรู้และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  หากพูดถึงผลกระทบต่อการค้าขายตามแนวชายแดนต้องมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีที่ผ่านมาในหลายกลุ่มสินค้าที่คาดว่าน่าจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าเท่าตัวในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งอุปโภค-บริโภค

รวมถึงสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้าง และน้ำมันเหตุปัจจัยจากการเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การเดินทางเข้า-ออกที่ทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการส่งออก-นำเข้าที่มีการลดกำแพงภาษีและเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เอื้อต่อการขยายตัวสูง
 

ในขณะเดียวกันการเปิดอาเซียนมีสิ่งที่ทางผู้ประกอบการค้าชายแดนมีความเป็นห่วงมากในขณะนี้ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องกับบรรยากาศการค้าชายแดนที่อาจจะเริ่มเห็นตัวเลขที่ลดลงคือการเข้ามาเบียดแย่งตลาดการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มเออีซีด้วยกันเอง

เพราะเออีซีเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะจากจีน,มาเลเซีย และสิงคโปร์เข้าไปเบียดแย่งตลาดของไทย  โดยเฉพาะในตลาดเมียนมาปัจจุบันที่พบว่าสัดส่วนของตัวเลขการค้าสินค้าของไทยครองตลาดได้เพียง 30% เท่านั้น  

ไทยจะต้องปรับทัศนคติใหม่ว่าทุกประเทศจะต้องพึ่งพาไทยนั้นไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว  ซึ่งรัฐบาลไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาช่องทางการขยายตลาดการค้า รวมถึงการลงทุนในเมียนมาให้มากขึ้น ในลักษณะรัฐบาลนำ เอกชนตาม ไม่ใช่เอกชนนำและรัฐบาลตามเช่นปัจจุบัน 

รัฐบาลควรที่จะกรุยทางน่าจะดีกว่า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการในจุดดังกล่าวน้อยมาก มีเฉพาะแต่การสร้างภาพเพียงอย่างเดียวแต่ในเชิงลึกแทบจะไม่มีให้เห็น อีกทั้งขั้นตอนระเบียบการค้าของไทยเองก็ยังเป็นอีกปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็นภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใครจะต้องรับฟังและร่วมมือกับภาคเอกชน 

โดยเฉพาะข้อเสนอในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมทั้งต่อยอดโครงการใหญ่ ๆ ที่ดำเนินการมาแล้ว เช่น การพัฒนาพื้นที่ อีอีซี โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ เป็นต้น

บุญเลื่อน พรหมประทานกุล : รายงาน