เฮ! มติครม. ปรับเกณฑ์ตกทอดมรดก-โอนสิทธิที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

16 ส.ค. 2566 | 07:07 น.
647

เปิดเบื้องลึก มติครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง ปรับปรุงสิทธิ กำหนดเกณฑ์การตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... 

พร้อมทั้งขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นี้ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ ก่อนให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปประกอบการพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

เหตุผลปรับเกณฑ์ตกทอดมรดก

ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 39 บัญญัติให้ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนด ในกฎกระทรวง ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้เคยเสนอร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการ แต่ในชั้นการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้มีข้อสังเกตต่อร่างกฎกระทรวงในแต่ละฉบับ จึงทำให้ยังไม่มีผลใช้บังคับ

 

ภาพประกอบข่าว การตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ต่อมา สคก. ได้มีหนังสือตอบข้อหารือของ ส.ป.ก. เรื่อง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในกรณีที่เกษตรกรได้รับกรรมสิทธิ์ตามสัญญาเช่าซื้อที่ดิน เพื่อเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สรุปได้ว่า สิทธิในการใช้สอย ที่ดินของบุคคลที่ได้รับสิทธิมาจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 39 นั้น ไม่เป็นไปตามหลักกรรมสิทธิ์ ตามมาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ซึ่งพ.ร.บ. ยังคงจำกัดสิทธิ การโอนและการใช้สอยที่ดินที่ได้มาจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ มิฉะนั้นก็ไม่อาจคงความมุ่งหมายของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้ได้ ดังนั้น ส.ป.ก. ยังคงมีหน้าที่ในการคุ้มครองที่ดินมิให้ใช้ประโยชน์ใด ๆ นอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรมและกิจการอื่น ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิ ในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ขึ้น ก่อนจะเสนอเข้ามาให้ที่ประชุมครม.อนุมัติ

 

ภาพประกอบข่าว การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

สาระสำคัญของเรื่องดังกล่าว 

เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดิน ที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เกี่ยวกับค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิในที่ดินคืน ส.ป.ก. ไว้ด้วย โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขระเบียบ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดซื้อที่ดิน เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558

โดย กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเห็นว่า ประเด็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม นั้น เป็นการกำหนดให้สิทธิแก่ทายาททุกคน จึงไม่ขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนประเด็นค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้โอนสิทธิในที่ดินคืน ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามนัยมาตรา 39 เพื่อนำที่ดินมาหมุนเวียนให้เกษตรกรตามวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

สามารถใช้จ่ายจากเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ซึ่งไม่ใช่การจัดซื้อที่ดินตาม มาตรา 19 (2) และมาตรา 29 แห่งพ.ร.บ.ฯ ที่บัญญัติให้เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมเห็นว่า ที่ดินบริเวณใดสมควรดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ ส.ป.ก. มีอำนาจจัดซื้อหรือดำเนินการเวนคืนที่ดินได้ 

ทั้งนี้ กำหนดให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดิน เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เป็นไปตามระเบียบฯ เพื่อให้เกิดความรัดกุม มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด 

ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เกี่ยวกับค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิ์ในที่ดินคืน ส.ป.ก. ไว้ในร่างกฎกระทรวงนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้อง แก้ไขระเบียบฯ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้นำร่างกฎกระทรวงดังกล่าวดำเนินการรับฟังความคิดเห็น ของเกษตรกร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไปด้วยแล้ว

 

ภาพประกอบข่าว การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

รายละเอียดของร่างกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีดังนี้

กำหนดบทนิยาม

“ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม

กำหนดให้ที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตายสามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมตามลำดับตามที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ (คู่สมรส/ผู้สืบสันดาน (บุตร)/บิดามารดา/พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน/พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน/ ปู่ ย่า ตา ยาย/ลุง ป้า น้า อา) 

หากมีทายาทหลายคนให้ตกเป็นทรัพย์มรดกร่วมกันของทายาททุกคน เว้นแต่ตกลงกันได้ว่าทายาทผู้ใดจะเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกแต่เพียงผู้เดียว ทายาทผู้รับที่ดินมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ได้รับสิทธิในที่ดินผู้ตายซึ่งมีอยู่ต่อ ส.ป.ก.  ทายาทผู้รับที่ดินมรดกใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.

การโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร

กำหนดให้สถาบันเกษตรกรอาจรับโอนสิทธิในที่ดินได้ ในกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินมีหนี้สินค้างชำระกับสถาบันเกษตรกร ให้สถาบันเกษตรกรที่จะรับโอนสิทธิในที่ดินต้องไม่มีที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมหรือมีที่ดินไม่เกินขนาดที่ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมกำหนด 

รวมทั้งยินยอมรับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน (ผู้โอน) มีต่อ ส.ป.ก. หรือสถาบันการเงิน ที่ร่วมโครงการกับ ส.ป.ก. หรือสถาบันเกษตรกรอื่น  ให้สถาบันเกษตรกรใช้สอยที่ดินเพื่อประโยชน์ ในการประกอบเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม หากฝ่าฝืนจะต้องโอนที่ดินนั้นคืนให้แก่ ส.ป.ก.

การโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก.

การโอนสิทธิในที่ดิน ไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทนหรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ ส.ป.ก. จังหวัดจัดส่งคำร้อง

พร้อมทั้งความเห็นและรายงานผลการตรวจสอบสภาพที่ดิน ให้ ส.ป.ก. พิจารณาสภาพความเหมาะสม ทางการเกษตร ลักษณะการทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาระผูกพันในที่ดิน ราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อ ไปจาก ส.ป.ก. ราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาสั่งรับการโอนสิทธิในที่ดินได้ เฉพาะกรณีเป็นที่ดินที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น 

หากที่ดินไม่มีความเหมาะสมที่จะปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีการฝ่าฝืน กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. ต่อไป 

 

ภาพประกอบข่าว การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 

ทั้งนี้  ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิ ในที่ดินได้ ดังนี้ 

  1. กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป ราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาประเมิน ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็นแต่ไม่เกินกว่า 1 เท่าครึ่งของราคาประเมินดังกล่าว 
  2. กรณีเป็นการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินซึ่งใช้สอยที่ดิน โดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ราคาค่าตอบแทน การโอนสิทธิในที่ดินจะต้องไม่เกินกว่าราคาค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินได้เช่าซื้อไปจาก ส.ป.ก. โดยหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักกลบลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคาสั่งรับการโอนสิทธิ ในที่ดินดังกล่าวด้วย 

สำหรับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่า เป็นการปรับปรุงเกี่ยวกับสิทธิและการถือครองในที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น โดยรัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ. นี้ จัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์

โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ตลอดจนการผลิตและการจาหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น โดยผู้มีสิทธิได้รับจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ 

  1. เกษตรกร 
  2. บุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร 
  3. สถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) 

สำหรับที่ดินของ ส.ป.ก. เป็น 2 ประเภท คือ 

  1. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร 
  2. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่เอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน (ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18ข) กับเกษตรกรสถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ )