รู้จัก "ที่ดิน ส.ป.ก." มรดกชั่วลูกชั่วหลานคืออะไร มาอ่านกัน

09 มิ.ย. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2566 | 11:44 น.
1.5 k

ที่ดิน ส.ป.ก.คืออะไร ใครได้ประโยชน์ วิธีขอที่ดินที่ดิน ส.ป.ก.ต้องทำอย่างไร ตายไปที่ดินจะเป็นของใคร  ที่นี่มีคำตอบ

"ที่ดิน ส.ป.ก." หรือที่ดิน "ส.ป.ก. 4-01" คือเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน

ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายได้ เพราะบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ตามมาตรา 39 ระบุว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยก

หรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก.มีอยู่7ข้อคือ

1. มีสัญชาติไทย

2. บรรลุนิติภาวะ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว

3. ประพฤติดี ซื่อสัตย์สุจริต

4. ร่างกายสมบูรณ์ ขยันขันแข็ง

5. ไม่มีที่ดินหรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอ

6. ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน

7. ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบของ ส.ป.ก.

และต้องมี 3 ประเภทที่มีสิทธิได้รับการจัดที่ดิน ส.ป.ก. คือ "เกษตรกร"เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักอยู่แล้ว โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ในรอบปี เพื่อประกอบเกษตรกรรมแห่งท้องถิ่นนั้น ไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับ "เกษตรกร และบุคคลในครอบรัวเดียวกัน" เพื่อใช้ประกอบเกษตรกรรม ผู้ประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักผู้ยากจน มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปีจบการศึกษาทางเกษตรกรรม ไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพหรือเทียบเท่าและเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่เกิน 100 ไร่ และสุดท้ายคือ "สถาบันเกษตรกร" เช่นกลุ่มเกษตรกรสหกรณ์การเกษตร ชุมชนสหกรณ์การเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

ที่ดิน ส.ป.ก.เราสามารถ โอนให้ใครได้บ้างละ?มาดูกัน สามี ภรรยา บุตร บิดามารดาของเกษตรกร  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของเกษตรกร  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของเกษตรกรลและ หลานของเกษตรกร

ล่าสุดสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้อออกประกาศให้ ทายาทเกษตรกรยื่นคำขอรับมรดกสิทธิในที่ดิน ซึ่ง ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. เปิดเผยว่า 48 ปีที่ผ่านมา ส.ป.ก. ดำเนินงานของการปฏิรูปที่ดินสามารถจัดที่ดินทำกินให้เกษตรกรกว่า 2.9 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 36 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้เสียชีวิตของเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง พบว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ได้รับการจัดให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเสียชีวิตทั้งสิ้น 205,930 ราย และ ส.ป.ก. ได้แจ้งให้ทายาทมาดำเนินการยื่นคำขอจัดที่ดินแทนที่ตามระเบียบฯ แล้ว จำนวน 18,542 ราย คิดเป็นเนื้อที่ 349,561 ไร่

ในปี พ.ศ. 2564 ส.ป.ก. ได้แก้ไข/ปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ. 2564 ขึ้น และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 โดยกำหนดให้ทายาทของเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินเสียชีวิตมายื่นคำขอรับมรดกสิทธิฯ  ตามระเบียบข้อ 22 และ 23 หรือมาขอรับการจัดที่ดินแทนที่ผู้เสียชีวิตตามข้อ 30 และข้อ 31 ภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ทายาทเกษตรกรได้รับการจัดที่ดินตามระเบียบของ ส.ป.ก. อีกทั้งเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่ประสงค์จะทำเกษตรกรรมแต่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้รับความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในที่ดินของตนอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ด้วยระเบียบดังกล่าวเพิ่งบังมีผลคับใช้ จึงมีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลโดยอนุโลมว่า สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินซึ่งเสียชีวิตก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้ และทายาทยังไม่ได้มายื่นคำขอภายใน 1 ปี ตามที่ระเบียบกำหนด ให้เริ่มนับวันตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลบังคับใช้และขยายวันไปอีกไม่เกิน 2 ปี จะต้องมายื่นคำขอรับการตกทอดทางมรดกสิทธิ/ขอรับการจัดที่ดินแทนที่ พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลอันสมควรได้รับการจัดที่ดิน ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 หากพ้นระยะเวลาที่กำหนด ส.ป.ก. จะประกาศเป็นที่ดินแปลงว่าง และจัดให้เกษตรกรหรือผู้ประสงค์จะทำเกษตรกรรมรายอื่นตามระเบียบฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ส.ป.ก. ได้ทำหนังสือเร่งให้ทายาทของเกษตรกรที่ผู้ได้รับการจัดที่ดินดังกล่าว เข้ามายื่นคำขอรับมรดกสิทธิ/ขอรับการจัดที่ดินแทนที่ ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 ที่ ส.ป.ก.จังหวัดทั่วประเทศและยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ https://servicecenter.alro.go.th/