เวิล์ดแบงก์เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุดในอาเซียน

07 ส.ค. 2566 | 18:50 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 19:40 น.

ธนาคารโลกชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุดในอาเซียน การเติบโตในระยะกลางคาดว่าจะชะลอตัวลงไปถึง 3% หากไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างที่สำคัญจากผลกระทบในเรื่องของจำนวนประชากรในวัยทำงานที่ลดลง เผยภาวะตีบตันทางการเมืองและปัจจัยกดดันภายนอก มีส่วนซ้ำเติม

 

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ThaiLand Economic Resilience and Opportunities” จัดโดยเดอะเนชั่น ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ สุขุมวิท วันนี้ (7 ส.ค.) ในหัวข้อ “การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความท้าทาย”  โดยเขากล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลมาจากประเทศฟิลิปปินส์ว่า เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมีความท้าทายอยู่ที่ “ความไม่เท่าเทียม” ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำคือ ไทยจะต้องมุ่งเน้นไปที่นโยบายที่เหมาะสมแต่ลึกซึ้ง และลงทุนเชิงกลยุทธ์มากขึ้นในด้านต่างๆ คือ

1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างทั่วถึง และให้ความสำคัญประชากรสูงวัย ทั้งนี้มองว่า การปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานมหภาคและกฎหมายที่แข็งแกร่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้ไทยมีกรอบการคลังที่มั่นคงอย่างยั่งยืน และทำให้มีงบประมาณดูแลปัญหาโควิด-19 มากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งโดยรวมแล้วใช้งบประมาณ 3.2% ของจีดีพีในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในปี 2020 และช่วยให้คนจำนวน 780,000 คนพ้นจากความยากลำบากในปีนั้น ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงมีเงินงบประมาณที่เพียงพอสำหรับเป็นกันชนในภาคการเงิน เงินงบประมาณนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะสั้นและระยะกลางต่อไป โดยมองว่าไทยมีศักยภาพในการสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มั่นคงถาวร เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และยังสามารถดูแลด้านประชากรสูงวัยได้

 

เวิล์ดแบงก์เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าสุดในอาเซียน

2. การเติบโตของอุตสาหกรรมบริการ และการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของโลก (global value chains) อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคบริการเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่ด้านนวัตกรรม และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั่วโลก เมกะเทรนด์ทั่วโลกจะนำพาโอกาสให้กับบริษัทที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลกด้านนวัตกรรม การเร่งพัฒนาธุรกิจดิจิทัล การทำงานระบบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ การปรับเปลี่ยนการค้าทั่วโลก การให้บริการของอุตสาหกรรมผลิต และการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิทัล เหล่านี้จะสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ผลิตส่งออก

3. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระบบเศรษฐกิจ ไทยให้คำมั่นจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนถึงปี 2050 และกำลังพัฒนาแผนต่างๆเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งก็ได้เห็นความก้าวหน้าที่น่าประทับใจในความพร้อมรับมือด้านเศรษฐกิจในเรื่องภูมิอากาศ อย่างเช่น มีแผนสำหรับการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า และผลักดันนโยบาย Bio-Circular Green (BCG) ที่ได้ดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และรับมือกับอุปสงค์ในอนาคต จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการให้มากขึ้น โดยนโยบายทางการเงินสามารถมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยคาร์บอนจะสำเร็จได้จะต้องมีการรวมนโยบายออกแบบด้านภาษีอย่างดีและใช้กลไกราคาอื่นๆ รายได้ที่ได้รับจากเครื่องมือเหล่านี้ สามารถนำมาใช้สนับสนุนนโยบายด้านภูมิอากาศได้ เช่น การลงทุนในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม เป็นต้น

ประเทศไทยยังมีโอกาสในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนในนวัตกรรมสีเขียวได้ เช่น การนำกลไกด้านราคามาใช้ และส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความตระหนักรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเสริมสร้างกลไกการเงินเพื่อสนับสนุนสังคมคาร์บอนต่ำและรับมือในด้านการลงทุน จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้าย ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยยังระบุด้วยว่า สิ่งที่เป็น ความท้าทายหลักๆ ของไทย มี 3 ด้าน คือ

ความท้าทายประการแรก ในแง่ของภายในประเทศ ด้วยความท้าทายทางโครงสร้างที่เกิดจากจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลง การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว และอัตราเติบโตของผลิตภาพที่ลดลง เป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างดี ขยับจากประเทศที่มีรายได้น้อยมาสู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งเจนเนอเรชัน แต่การจะนำพาประเทศไทยให้มีการเติบโตสูงขึ้นต่อไป แม้จะไม่ง่าย แต่สามารถทำได้หากปรับปรุงในเรื่องของโครงสร้างประเทศ

“วันนี้การฟื้นตัวของไทยยังคงล่าช้ากว่าประเทศในอาเซียน และการเติบโตในระยะกลางคาดว่าจะชะลอตัวลงไปถึง 3% หากไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างที่สำคัญจากผลกระทบในเรื่องของจำนวนประชากรในวัยทำงานที่ลดลง ดังนั้น มีแนวโน้มที่ไทยจะบรรลุการเป็นประเทศรายได้สูงล่าช้าไปหลังปี 2050 จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2037 ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี โดยประเมินจากสถานการณ์ปกติ”

ความท้าทายประการที่สอง ในแง่ระดับโลก สิ่งที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจในปี 2023-2024 จะมาจากช่องทางด้านการเงินและการค้าสินค้า หลังจากที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ระดับ 3.1% เมื่อปีที่แล้ว (2022) ขณะนี้ก็ยังคงอยู่ในช่วงที่ยากลำบากจากภาวะเงินเฟ้อ เงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวด และระดับหนี้ไปแตะระดับสูงสุด การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 2.1% ในปี 2023 และ 2.4% ในปี 2024

ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นหลัก อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากตัวเลขการเติบโตล่าสุดที่ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ และอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย

ความท้าทายประการที่สาม กลับมาที่ประเด็นในประเทศ สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่มีความล่าช้าและชะงักงันในการจัดตั้งรัฐบาล จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของไทยและการกำหนดเป้าหมายในอนาคต

"ขณะนี้ภาคเอกชนของไทยได้เริ่มแสดงสัญญาณถึงความไม่สบายใจ ด้านตลาดต่างประเทศอาจจะแสดงสัญญาณแบบเดียวกันตามมา ท้ายที่สุดนี้ แม้ว่าความท้าทายต่างๆนี้เหมือนจะหนักอึ้ง แต่ยังมีโอกาสมากมายรออยู่ข้างหน้าด้วยเช่นกัน” นายซาร์โคเนกล่าว และย้ำว่า

ธนาคารโลกมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนแผนการพัฒนาของไทยในการเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการทำงานด้านวิเคราะห์ ให้ข้อมูลต่างๆออกมา เพื่อให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไทย สามารถวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึงสำหรับประเทศไทย