นายกฯยินดี “เวิลด์แบงก์” จัดไทยอันดับ 3 ระบบโลจิสติกส์อาเซียน

07 พ.ค. 2566 | 10:45 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2566 | 11:02 น.

นายกฯ ยินดี “ธนาคารโลก” ยกย่องประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ไทยเป็นลำดับ 3 ของอาเซียน อันดับ 34 ของโลก พร้อมเดินหน้าพัฒนาสู่การเป็นประตูการค้าสำคัญของภูมิภาค

 

นายกรัฐมนตรีรับทราบ รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศประจำปี 2566 (International Logistics Performance Index: LPI 2023) ของ ธนาคารโลก (World Bank) และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับที่ 34 ของโลก จากทั้งหมด 139 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของ อาเซียน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวันนี้ (7 พ.ค.) ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานของธนาคารโลกที่เผยแพร่ดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ประจำปี 2566 ซึ่งจากการวัดความสามารถของประเทศต่าง ๆ 139 ประเทศในการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน โดยประเมินจาก 6 ตัวชี้วัด พบว่า

ประเทศไทยได้คะแนนในแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้

  1. พิธีการศุลกากร (Customs) 3.3 คะแนน
  2. โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 3.7 คะแนน
  3. การเตรียมการขนส่งระหว่างประเทศ (International shipments) 3.5 คะแนน
  4. สมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ (Logistics Competence and Quality) 3.5 คะแนน
  5. ระบบการติดตามและตรวจสอบ (Tracking and Tracing) 3.6 คะแนน และ
  6. ความตรงต่อเวลาของการบริการ (Timeliness) 3.5 คะแนน

ทั้งนี้ ไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 3.5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนในปี 2561 ซึ่งไทยได้คะแนนเฉลี่ยรวม 3.41 คะแนน

ในปีนี้ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 34 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนน และมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.6 คะแนน

นายกรัฐมนตรียินดีต่อผลการจัดอันดับประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งสะท้อนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เห็นผลเป็นรูปธรรมจากคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและเชื่อในศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศมาโดยตลอด ทั้งยัง ได้วางแนวทางการดำเนินการเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคต ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าตามแผนฯ เร่งยกระดับระบบโลจิสติกส์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ พร้อมนำผลการประเมินมาต่อยอดพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพในแต่ละด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น

ดูอันดับทั้งหมด คลิกที่นี่  https://lpi.worldbank.org/international/global