จับตา แบงก์ชาติมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อ คุมเงินเฟ้อจาก "เอลนีโญ"

03 ส.ค. 2566 | 16:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2566 | 16:31 น.

ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาคเผย จุฬา วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยใกล้สู่สภาวะปกติ แบงก์ชาติถอนคันเร่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย อาจปรับดอกเบี้ยอีกครั้งปีนี้ คุมเงินเฟ้อจากเอลนิโญ ตั้งรัฐบาลล่าช้าไม่น่าห่วงเท่าประท้วง

“เราไม่ได้เหยียบเบรกเหมือนเฟด แต่กำลังถอนคันเร่งจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายตั้งแต่ยุคโควิด เพราะเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศ"

"ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ผลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ของธนาคารแห่งประเทศ โดยชี้ให้เห็นว่า เป็นไปตามที่มีการคาดการณ์ไว้เเละแบงก์ชาติได้พยายามสื่อสารมาโดยตลอด แม้อาจไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ระดับปกติ (Normalization Process) จากช่วงโควิดที่ผ่านมา ซึ่งแบงก์ชาติค่อนข้างชัดเจนว่า อยู่ในจุดที่ใกล้จบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว

 

คาดว่า แบงก์ชาติยังมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ เเละน่าจะไปจบที่ 2.5% แม้ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อจะต่ำเนื่องจากฐานที่สูงในปีที่แล้ว แต่ปัจจัยเสี่ยงในอนาคตยังไม่จบ โดยเฉพาะปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อพื้นฐานในส่วนของอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ

"แบงก์ชาติยังส่งสัญญาณว่าต้องการรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง"  

จึงทำให้อาจมีการขึ้นดอกเบี้ยในยามที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในอนาคต

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ให้ความเห็นว่า หากเศรษฐกิจไทยไม่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามคาด ก็อาจทำให้แบงก์ชาติหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นหลักในปีนี้คือ "ภาคท่องเที่ยว" แม้จะมีตัวเลขคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วแต่ยอดการใช้จ่ายต่อหัวกลับลดลง

ในขณะที่ภาคส่งออกยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลังจากผ่านไปครึ่งปี พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐแย่น้อยกว่าที่ตลาดคาด ตรงกันข้ามกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวน้อยกว่าที่คาด จนกระทั่งธนาคารกลางของจีนจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลง และรัฐบาลจีนกำลังถูกกดดันให้อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

เศรษฐกิจไทยกำลังโต ไม่ว่าจัดตั้งรัฐบาลช้าหรือเร็ว

ผศ.ดร.พงศ์ศักดิ์ ระบุว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าไม่ว่าจะ 3 หรือ 6 เดือน อาจส่งผลต่องบลงทุนภาครัฐ แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับจีดีพี การเบิกจ่ายตามปกติยังคงทำได้  การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเห็นสัญญาณแล้วว่าตัวเลขดีขึ้นต่อเนื่อง

"เรื่องจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าหรือการทะเลาะกันในสภายังไม่น่าห่วงเท่ากับความรุนแรงนอกสภา การประท้วงที่นำไปสู่การสร้างบรรยากาศตึงเครียดบนท้องถนน จะกระทบกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้"