10ปีชาวนาไทยยิ่งทำยิ่งจนชงรบ.ใหม่ปฎิรูปทั้งระบบ

26 ก.ค. 2566 | 13:16 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2566 | 13:26 น.

นักวิชาการ ชี้ 10ปีนโยบายแทรกแซงตลาดข้าว ไม่ช่วยชาวนาไทย  ยิ่งทำยิ่งจน ชงรบ.ใหม่ปฏิรูปทั้งระบบ อึ้ง10ปี มูลค่าส่งออกข้าวหายถึง 87,500 ล้านบาทหลังคู่แข่งเกิดใหม่เพียบ

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ทำการประเมินสถานภาพข้าวไทยในตลาดโลกช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการนำข้อมูลทางด้านต้นทุนปลูกข้าว ราคา มูลค่าการส่งออก และสัดส่วนการส่งออกข้าวไทยในตลาดมาทำการวิเคราะห์ พบว่า ช่วงปี 2557-2566 มูลค่าการส่งออกข้าวไทยจะสูญหายไป 87,500 ล้านบาท

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยตลาดที่มูลค่าการส่งออกจะหายไปมากสุดคือ ตลาดเอเชีย (ไม่รวมอาเซียนและตะวันออกกลาง) เสียหาย 181,000 ล้านบาท ตลาดยุโรป เสียหาย 67,000 ล้านบาท ตลาดอาเซียน 27,400 ล้านบาท แต่ยังมีบางตลาดที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 94,000 ล้านบาท แอฟริกามูลค่าเพิ่มอีก 132,000 ล้านบาท

10ปีชาวนาไทยยิ่งทำยิ่งจนชงรบ.ใหม่ปฎิรูปทั้งระบบ

โดยสาเหตุที่มูลค่าการส่งออกข้าวไทยลดลงมาจากประเทศคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งเวียดนาม และอินเดีย โดยอินเดียคาดว่าปี 57 จะส่งออกได้ 10 ล้านตัน ส่วนไทยเป็นอันดับ 2 ส่งออกได้ 9 ล้านตัน เวียดนามเป็นอันดับสาม
"หากไทยยังไม่ปรับตัวเรื่องยุทธศาสตร์ข้าวในอีก 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าสถานการณ์ข้าวไทยจะแข่งขันลำบากในตลาดโลก ซึ่งต้องการให้รัฐบาลชดเชยปัจจัยการผลิตให้ชาวนา 20% ของต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนปลูกข้าว 10,000 บาท รัฐบาลควรชดเชยให้ 2,000 บาท จะทำให้ชาวนามีเงินเหลือใช้จ่าย 3,000-4,000 บาทต่อตัน และจะอยู่รอดได้ โดยอาจตั้งเป็นกองทุนชดเชยปัจจัยการผลิต รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาผลผลิตข้าวต่อไร่ให้เพิ่มขึ้น ควรมีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวใหม่ พื้นที่ใดเหมาะสมก็ควรส่งเสริมสนับสนุน จะช่วยทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ดีขึ้น และทำให้มีศักยภาพการแข่งขันได้ในตลาดโลก"

10ปีชาวนาไทยยิ่งทำยิ่งจนชงรบ.ใหม่ปฎิรูปทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้ส่งออกข้าวรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก ทั้งพม่าที่ตั้งเป้าการส่งออกในอีก 5 ปีข้างหน้า จาก 1 ล้านตัน เป็น 4 ล้านตัน ขณะที่กัมพูชา และอินโดนีเซีย เร่งเพิ่มผลิตข้าวเช่นกัน ส่วนผลผลิตข้าวไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งปลูกข้าวกลับไม่พัฒนาขึ้นเลย โดยไทยปลูกข้าวเฉลี่ยได้ผลผลิตต่อไร่เพียง 450 กิโลกรัม(กก.) แต่เวียดนามได้ถึง 1.2 ตันต่อไร่

นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง โดยเมื่อเทียบราคาย้อนหลังในช่วง 10 ปี พบว่าราคาข้าวไทยห่างจากเวียดนามเฉลี่ย 40-50 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ต้นทุนปลูกข้าวของชาวนาไทยกลับเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันต้นทุนปลูกข้าวต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 9,763 บาท เวียดนาม 4,070 บาท พม่า 7,121 บาท ส่วนรายได้ของชาวนาไทยอยู่ที่ 11,300 บาทต่อตัน เวียดนาม 7,251 บาทต่อตัน พม่า 10,600 บาทต่อตัน

“ชาวนาไทยมีเงินเหลือใช้แค่ 502 บาท/ตันเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงต่อเนื่องจากช่วง 10 ปี หรือปี 2557 ที่ชาวนาไทยมีเงินเหลือ 1,900 บาท/ตันดังนั้นอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาปฎิรูประบบใหม่ทั้งหมดและผลักดันการส่งเสริมข้าวพรีเมี่ยมอย่างจริงจัง”