พาณิชย์พลิก ต่ออายุเอดีเหล็ก ป้องตลาด 4.5 แสนล้าน

07 ก.ค. 2566 | 08:12 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 08:28 น.
601

อุตสาหกรรมเหล็กเฮ พาณิชย์กลับลำ ต่ออายุมาตรการเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อน-ท่อเหล็กจาก 6 ประเทศป้องตลาด 4.5 แสนล้าน อุ้มผู้ประกอบการในประเทศอยู่รอด ชี้ช่วยแข่งขันเป็นธรรม คาดความต้องการใช้เหล็กไทยปีนี้พุ่ง 17 ล้านตันจากเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น พาณิชย์แจงเหตุยอมถอย

จากที่คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน(ทตอ.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานได้มีการพิจารณา และมีมติให้ยุติการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศที่ถือเป็นผู้ผลิตและทุ่มตลาดรายใหญ่ของโลกเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายหลังได้มีเสียงคัดค้านจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศที่เกรงจะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นหากมีการยกเลิกมาตรการ และขอให้ ทตอ.มีการทบทวน

  • ไฟเขียวต่ออายุเอดี

นายนาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.)ได้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก มีความคืบหน้าแบ่งออกเป็น 3 กรณี คือ 1.สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก บราซิล อิหร่าน ตุรกี สถานะล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 ทตอ. ได้มีประกาศต่ออายุมาตรการอีก 5 ปีแล้ว

2. กรณีสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน และมาเลเซีย ล่าสุดร่างผลการทบทวนมีมติให้ต่ออายุมาตรการอีก5 ปี เช่นกัน ซึ่งน่าจะมีประกาศให้ต่ออายุมาตรการเร็วๆ นี้ และกรณีที่ 3.สินค้าท่อเหล็กจากจีน และเกาหลีใต้ ล่าสุดร่างผลการทบทวนมีมติให้ต่ออายุมาตรการอีก 5 ปี เช่นกัน ซึ่งน่าจะมีประกาศให้ต่ออายุมาตรการเร็ว ๆ นี้

นาวา จันทนสุรคน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้เกิดการค้าและการแข่งขันที่เป็นธรรม และรักษาผู้ผลิตในประเทศให้ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าในประเทศเพื่อความมั่นคงของซัพพลายเชนภายในประเทศ ตลอดจนการสร้างงาน กระจายรายได้ภายในประเทศ”นายนาวากล่าว และขยายความว่า

วัตถุประสงค์ของการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด คือ เพื่อให้เกิดการค้าขายที่เป็นธรรม โดยจากรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าต่าง ๆ รวม 2,339 มาตรการ โดยประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสูงสุด ได้แก่ 1.สหรัฐอเมริกา 2. อินเดีย 3. บราซิล 4.ตุรกี และประเทศส่งออกที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากสุด ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย และไต้หวัน ตามลำดับ

พาณิชย์พลิก ต่ออายุเอดีเหล็ก ป้องตลาด 4.5 แสนล้าน

  • ป้องตลาด 4.5 แสนล้าน

ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตสินค้าเหล็กทั่วประเทศ 217 ราย แยกเป็นกำลังผลิตเหล็กทรงแบน (เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบต่างๆ) กำลังผลิตรวม 9.0 ล้านตันต่อปี และเหล็กทรงยาว (เหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อยเหล็กลวด เหล็กเฮชบีม เหล็กไอบีม) กำลังผลิตรวม 14.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการมีโครงการก่อสร้างโรงงานเหล็กเพิ่มขึ้น ในอนาคตคาดกำลังผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 30 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้เหล็กต่อปีอยู่ในช่วง 16.4-19.3 ล้านตันต่อปี มีมูลค่าสินค้าเหล็กราว 450,000 ล้านบาทต่อปี

สำหรับในปี 2566 สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3% เป็น 1,822.3 ล้านตัน ตามการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะจำกัดอัตราการเติบโต้ของความต้องการใช้เหล็ก โดยภูมิภาคที่จะมีความต้องการใช้เหล็กมากขึ้นในอัตราสูงได้แก่อินเดีย และอาเซียน

พาณิชย์พลิก ต่ออายุเอดีเหล็ก ป้องตลาด 4.5 แสนล้าน

  • สงครามเหล็กจ่อรอบใหม่

ขณะที่เวลานี้ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ได้วางแผนขยายการผลิตเหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต (อ่านบทสัมภาษณ์ได้ในหน้า 9) ส่วนจีนที่เป็นผู้ทุ่มตลาดสินค้าเหล็กมากสุดในโลกได้กลับมาผลิตเหล็กสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ผลิตเหล็กดิบได้กว่า 440 ล้านตัน และมีการส่งออกมากถึง 36.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดจะทำให้เกิดสงครามการค้าและการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กในภูมิภาคอาเซียนรุนแรงมากขึ้นในอนาคต หากไทยไม่มีมาตรการป้องกันก็จะเป็นเป้าหมายหลักที่ถูกทุ่มตลาดอย่างแน่นอน

“อย่างไรก็ดีสำหรับประเทศไทยในปีนี้คาดความต้องการใช้เหล็กน่าจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2565 โดยมีโอกาสเติบโตขึ้นระหว่าง 1.9-3.7% เป็น 16.7-17.0 ล้านตัน จากเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น”

  • เสนอ 6 มาตรการช่วยอยู่รอด

นายนาวา กล่าวอีกว่า เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยอยู่รอด รัฐบาลต้องมีมาตรการได้แก่ 1.การส่งเสริมการใช้กำลังผลิตที่สูงขึ้น (ปัจจุบันใช้กำลังผลิตอยู่ที่ 24-33% ของกำลังการผลิต จากผลกระทบเศรษฐกิจและสินค้าทุ่มตลาดจากต่างประเทศ) และส่งเสริมเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเหล็กบางประเภทที่ยังขาดแคลนหรือรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เช่น เหล็กเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า

2.พัฒนาความร่วมมือเครือข่ายและการค้าระหว่างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย กับพันธมิตรอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศอื่นๆ 3. เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เนื่องจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมเหล็ก ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกินได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าเหล็กจากต่างประเทศ

4.สนับสนุน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมตัวรับมือกับมาตรการของต่างประเทศ เช่น กลไกการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป (CBAM) 5.ขณะนี้ได้มีการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Circumvention) สินค้าเหล็กอย่างโจ่งแจ้งและปริมาณสูงมาก โดยประเทศไทยไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้กรณีหลบเลี่ยง(Anti-Circumvention) แต่อย่างใด จึงจำเป็นแล้วที่ประเทศไทยต้องเร่งใช้มาตรการดังกล่าวกับผู้ส่งออกจากต่างประเทศมีพฤติการณ์หลบเลี่ยงดังกล่าว

6.เฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม กรณีที่มีนักธุรกิจจีนได้จัดตั้งโกดังกระจายสินค้าเหล็กในประเทศไทย โดยนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีนมาขายในไทยโดยตรง ซึ่งขณะนี้มีจำนวนมากกว่า 10 โกดังแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยมีการนำเข้าสินค้าเหล็กที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือสินค้าเหล็กที่ยังไม่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ประเภทบังคับมาจำหน่าย

  • พาณิชย์แจงกลับลำอุ้ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากที่ ทตอ.ได้มีการพิจารณาต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน และท่อเหล็กจาก 6 ประเทศ จากก่อนนี้มีเสียงคัดค้านการต่ออายุมาตรการจากผู้ค้า ผู้นำเข้าเหล็ก รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่อเนื่อง โดยเรียกร้องให้ยุติการต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด โดยให้เหตุผลผู้นำเข้าต้องเสียภาษีแพงขึ้น

รวมถึงที่ผ่านมาสินค้าเหล็กหลายรายการมีการบังคับใช้มาตรการเอดีและต่ออายุนานเกินระยะเวลาปกติตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศน่าจะปรับตัวได้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าดี มีคุณภาพจากต่างประเทศ ในเรื่องนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ โดย ทตอ.ได้พิจารณาทบทวนจากเอกสารหลักฐานตัวเลขต่างๆ รวมถึงผลประกอบการมาให้ ทตอ.พิจารณาพบว่ายังมีการทุ่มตลาดจริง โดยจำหน่ายในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศต้นทางการนำเข้า จึงได้มีมติให้ต่ออายุการใช้มาตรการอีก 5 ปีในสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน และท่อเหล็กจาก 6 ประเทศข้างต้น

 “โดยปกติการพิจารณาทบทวนการใช้มาตรการเอดีที่มีผลบังคับใช้แล้วจะรีวิวทุก 5 ปีว่าจะใช้มาตรการต่อหรือไม่ (Sunset Review) เช่นสมมุติเคยเก็บภาษีเอดีที่ 10% ถ้าต่ออายุก็เก็บ 10% เหมือนเดิม แต่ถ้าเห็นว่าผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขันได้และไม่ได้รับผลกระทบก็สามารถประกาศยกเลิกการใช้มาตรการได้ อีกส่วนหนึ่งคือการยื่นทบทวนอัตราภาษี (Rate) ที่หากอุตสาหกรรมในประเทศเห็นว่ายังถูกทุ่มตลาดหนักอยู่ก็สามารถยื่นให้พิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีเอดีได้ ส่วนประเทศต้นทางที่ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายหากเห็นว่าอัตราภาษีที่เราเรียกเก็บสูงไป และการทุ่มตลาดของเขาก็ลดลงแล้ว ก็สามารถยื่นขอให้เราพิจารณาปรับลดอัตราภาษีลงได้เช่นกัน”

  • อุตฯอาหารเฮได้ต่ออายุเว้นเอดี

ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เผยว่า การจะพิจารณาต่ออายุหรือยกเลิกการใช้มาตรการเอดี ต้องดูตามข้อมูล และข้อเท็จจริงว่ามีการทุ่มตลาด ส่งผลกระทบผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเดียวกันในประเทศจนไม่สามารถแข่งขันได้หรือไม่ หากมีการทุ่มตลาดจริงก็สมควรใช้มาตรการ แต่หากราคาจำหน่ายของผู้ประกอบการในประเทศและราคานำเข้าใกล้เคียงกัน ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกันมาก และผู้ใช้เหล็กได้ประโยชน์ก็ไม่ควรใช้มาตรการ ซึ่งเรื่องนี้อยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

อย่างไรก็ดีในส่วนของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศ ล่าสุดได้รับอานิสงส์จาก ทตอ.ได้พิจารณาต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กสำหรับผลิตเป็นกระป๋องบรรจุอาหารได้แก่ 1.เหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยดีบุกทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (Tin Plate) ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป (อียู) และ 2.เหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยโครเมียมทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน(Tin Free) จากจีน เกาหลีใต้ และอียู

ทั้งนี้ได้ยกเว้นการเก็บภาษีเอดี หรือ 0% ออกไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 12 พ.ย. 2566 หลังจากการยกเว้นได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้เป็นการต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีเอดีเป็นครั้งที่ 4 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศที่ใช้เหล็กทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระป๋องที่ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ โดยสินค้ากระป๋องคิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 20-40% ของต้นทุนอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้กระป๋องเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งหากไม่ได้รับการต่ออายุยกเว้นการเก็บภาษีเอดีจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกในตลาดโลก รวมถึงผู้บริโภคที่อาจถูกผลักภาระในเรื่องต้นทุนและราคาสินค้า