ทองคำนิวยอร์กปิดลบ 4.30 ดอลล์ เงินดอลล์แข็งค่ากดดัน

30 มิ.ย. 2566 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 07:10 น.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันพฤหัสบดี ( 29 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 4.30 ดอลลาร์ หรือ 0.22% ปิดที่ 1,917.90 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. 2566

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 28.60 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 22.798 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 18.10 ดอลลาร์ หรือ 1.96% ปิดที่ 906.80 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 19.50 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 1,227.40 ดอลลาร์/ออนซ์

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.42% แตะที่ระดับ 103.3432 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 3.846 เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังถูกกดดันจากความกังวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 ขยายตัว 2.0% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.4% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ระดับ 1.1% และ 1.3% ตามลำดับ

 

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 26,000 ราย สู่ระดับ 239,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 265,000 ราย

นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลข GDP และข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณครั้งล่าสุดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้

นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือนพ.ค.ของสหรัฐในวันนี้ เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)