หอการค้าฯ เล็งประชุมใหญ่นักธุรกิจจีนโลก หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

24 มิ.ย. 2566 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2566 | 18:26 น.

ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention : WCEC) ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การจัดงานครั้งนี้จะมีนักธุรกิจจีนจากทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ เข้าร่วมงานประมาณ 2,500 คน รวมกับนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนที่เข้าร่วมงานอีกกว่า 1,000 คน  และคาดนักธุรกิจจีนจะนำครอบครอบครัวเข้ามาท่องเที่ยวและพักผ่อนในไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย รวมแล้วคาดจะมีนักธุรกิจชาวจีนและครอบครัวเดินทางเข้ามาไทย 5,000-6,000 คน

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การจัดการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการตอกย้ำถึงความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยให้กับนักธุรกิจจีนจากทั่วโลกได้เห็น จากช่วงที่ผ่านมาทุกประเทศเผชิญปัญหาโควิด-19 ทำให้ภาคการค้าและการลงทุนชะงักไปพอสมควร โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่วันนี้มีนักลงทุนจีนหลายรายเข้ามาปักหลักตั้งโรงงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

หอการค้าฯ เล็งประชุมใหญ่นักธุรกิจจีนโลก หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

การประชุมครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำความพร้อมของไทยในความพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะทำให้มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน) อีกมากมายเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงประเด็นความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมคู่แฝดไทยและจีน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงซัพพลายเชนไทย-จีนได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต

ในอีกแง่มุมของการประชุมในครั้งนี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญถึงการเร่งรัดการเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์ของไทยให้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับจีนให้รวดเร็วที่สุด เพราะไทยจะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยให้การเชื่อมต่อ (Connectivity) ของจีนกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนเป็นได้อย่างไร้รอยต่อ ดังนั้น ในส่วนของไทยเองรัฐบาลคงต้องเร่งรัดแผนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทางราง รถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นรวดเร็วตามแผน ส่วนนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนตรงได้มาก

นายสนั่น หนึ่งในผู้ที่จะร่วมเสวนา “ภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย” ในการประชุมครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะได้ฉายภาพบนเวทีของการประชุมในครั้งนี้ จะเน้นให้เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างความสัมพันธ์ในทุกมิติกับประเทศจีน โดยเฉพาะสายใยไทย-จีนที่ตัดไม่ขาด ซึ่งไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาช้านานแล้ว  โดยจีนมีความพิเศษและมีความแตกต่างจากความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ผ่าน 4 สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นคือ 1.ความสัมพันธ์ทางการทูต 2.ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ 3.ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และ 4.ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“นอกจากนี้ สิ่งที่จะเน้นย้ำจะชี้ให้เห็นว่าไทยและจีนต่างเกื้อกูลผลประโยชน์ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นจากด้านการค้าจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน โดยในปี 2565 ล่าสุด ไทยส่งออกไปจีน มูลค่า 1.19 ล้านล้านบาท (ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก) ไทยนำเข้าจีน 2.49 ล้านล้านบาท (เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์) ทั้งนี้แม้ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท แต่การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) ซึ่งทั้งสองประเทศยังมีโอกาสที่จะขยายการค้าระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อีกหลายด้าน”

สำหรับด้านการลงทุน เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หอการค้าไทย ให้ความสำคัญกับจีนเป็นอย่างมาก และมีการกำหนด Strategy countries กับ 4 ประเทศสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรง(FDI) เชิงรุก ได้แก่ จีน ซาอุดิอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย โดยเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ไทยถือเป็นประเทศอันดับ 6 ที่จีนเข้ามาลงทุนในอาเซียนซึ่งยังถือว่าไม่มากเท่าที่ควร ทั้งที่ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และภูมิศาสตร์ในภูมิภาค

ด้วยเหตุนี้หอการค้าไทย และสถานทูตจีนประจำประเทศไทยจึงได้ร่วมกันตั้งคณะทำงาน Task Force ศึกษาการขยายการลงทุนของประเทศจีนในไทย โดยมีภาควิชาการฝั่งไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝั่งจีน คือมหาวิทยาลัยยูนนานว่า อุปสรรคและโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนจีนมีอย่างไรบ้าง ซึ่งจะมีการเสนอในการเสวนาครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน หอการค้าไทย เห็นสัญญาณที่นักลงทุนจีนให้ความสำคัญในการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รถ EV  อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ของไทย ซึ่งนายนฤตม์   เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ ที่จะร่วมเป็นวิทยากรในช่วงเสวนาด้วยคงได้ให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)  หรือสำนัก EEC เพิ่งได้มาหารือถึงแผนการพัฒนากับหอการค้าไทย ก็ยังเน้นให้ประเทศจีนมาลงทุน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและประชาชนโดยรอบพื้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนแน่นอน

เห็นได้จากก่อนหน้าที่ค่ายรถยนต์ใหญ่ของจีนทะยอยเข้ามาทำการตลาดในไทย  นอกจากนี้ยังได้เข้ามาลงทุนผลิต/ประกอบ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยมีค่ายรถยนต์จีนที่เข้ามาแล้ว เช่น MG, Great Wall Motor, BYD และ NETA และยังมีอีกหลายรายที่สนใจเข้ามาลงทุนในไทยจากข้อมูลบีโอไอ เช่น JAC และ Jiangling Motors (JMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ เนื่องจากมองว่าไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV และแบตเตอรี่แบบครบวงจร เบื้องต้นคาดจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่จีนสนใจขยายฐานผลิตที่ไทย อยู่ในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร

“วันนี้ภาพรวมการลงทุนจากจีน หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ จีนได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มสูงขึ้น โดยจีนลงทุนในไทยโดยรวมเป็นอันดับ 3 มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท รองจากอาเซียน และญี่ปุ่น เฉพาะที่ขอรับการส่งเสริมในปี 2565 เป็นอันดับ 1 มูลค่าเงินลงทุน 7.7 หมื่นล้านบาท  และจีนยังเป็นประเทศอันดับ 1 ในการลงทุนรถ EV  ในไทย เฉพาะ 3 ค่ายรถ EV จีนที่มา อย่าง BYD, Changan และ Hozon ที่ลงทุนมาสร้างโรงงานในไทยโดยตรงเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท”

หอการค้าฯ เล็งประชุมใหญ่นักธุรกิจจีนโลก หนุนไทยฮับ EV ภูมิภาค

สำหรับในครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อดึงการลงทุนจีนมาไทยเพิ่มขึ้น ทางหอการค้าฯ ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนที่จะนำเอาบีโอไอ และ EEC เดินทางโรดโชว์ที่จีนอีกครั้ง โดยจะไปเริ่มเจาะที่กรุงปักกิ่ง เมืองหลวง ก่อนที่จะกระจายไปตามมณฑลต่าง ๆ เพื่อตอกย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนของสองประเทศ โดยเป้าหมายจะเป็นการเดินสายที่เน้นการดึงดูดแบบโฟกัสกับนักธุรกิจรายกลุ่ม ว่าต้องการที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมใดบ้าง และไทยสามารถตอบโจทย์ต่าง ๆ ให้แก่นักลงทุนจีนได้อย่างไรบ้าง

“วันนี้หมดยุคของการให้สิทธิประโยชน์กว้าง ๆ แบบหว่านแห่และหวังดึงการลงทุนเข้ามา ทุกประเทศแข่งขันกันด้วยการตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนที่เฉพาะและหลายหลายมากขึ้น ดังนั้นโอกาสนี้ประเทศไทยก็ต้องเร่งปรับมาตรการและสิทธิโยชน์ให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพราะจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์เรามี ระบบโลจิสติกส์ส่วนหนึ่งมีความพร้อมและกำลังยกระดับไปอีกขั้นในเร็ว ๆ นี้ จึงเชื่อว่าจีนจะเห็นถึงโอกาสนี้และใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ มากขึ้น”

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ไทยถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่ผลการสำรวจกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนอยากมาหลังจากเปิดประเทศมากที่สุด จากความเป็นมิตรของคนไทย การอำนวยความสะดวกและความพร้อมของที่พักและการเดินทางในประเทศ ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวและอาหารไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นสิ่งที่ชาวจีนชื่นชอบมาก วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นตลาดสำคัญของไทย ก่อนโควิด-19 ไทยเคยรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 10 ล้านคนต่อปี มาวันนี้หลังจากทุกประเทศเปิดประเทศกันแล้ว ไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศแรกของโลกที่ทางการจีนอนุญาตให้ทัวร์สามารถเดินทางออกมาได้ ซึ่งปีนี้ คาดการณ์นักทองเที่ยวจีนมาไทยน่าจะถึง 4.25 ล้านคน